อียูยังไม่ได้ข้อสรุปจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู 7.5 แสนล้านยูโร หลังประชุมวันแรก

ผู้นำสหภาพยุโรปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดแบบตัวต่อตัวครั้งแรกนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม วันที่ 17 ก.ค. 63 (ภาพ: รอยเตอร์)

ผู้นำ 27 ชาติของสหภาพยุโรป (EU) ได้เดินทางมารวมตัวกันที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เพื่อจัดการประชุมสุดยอดในวันนี้ (17 ก.ค.) โดยที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ EU จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดี หลังการเจรจานานกว่า 7 ชั่วโมงในวันนี้ (17 ก.ค.) ที่ประชุมยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณประจำปี 2564-2570 ของ EU รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูดังกล่าว

นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ นายชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานสภายุโรป ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม (ภาพ: รอยเตอร์)

เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร โดยประกอบด้วยเงินให้เปล่าจำนวน 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโรสำหรับชาติสมาชิก EU ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ที่ประชุมยังคงมีความขัดแย้งกันอย่างมากเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู และคาดว่าการเจรจาจะเป็นไปอย่างยากลำบาก

นายอันเดรย์ เปลงกอวิช (Andrej Plenkovic) นายกรัฐมนตรีโครเอเชีย และ นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม (ภาพ: รอยเตอร์)

คาดว่าการประชุมจะยืดเยื้อออกไปจนถึงวันเสาร์ และอาจต่อเนื่องถึงวันอาทิตย์ เนื่องจากสมาชิก EU ยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการอนุมัติกองทุนดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยืนยันว่า การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องได้รับฉันทามติจากสมาชิกทั้ง 27 ชาติของ EU ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของ EU ที่ต้องการคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิก 27 ชาติเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เนเธอร์แลนด์ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยเงินกู้ในวงเงินต่ำแก่ชาติสมาชิก แทนการมอบเงินให้เปล่า และประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องทำการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการได้รับเงินกู้

นายซาเวียร์ เบทเทล นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก กล่าวว่า หาก EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อ EU และตลาดการเงิน เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อความน่าเชื่อถือของ EU ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top