ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 4 ราย เดินทางมาจากตปท.

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 3,295 คน (+4)
    • เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 4 ราย
  • ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 63
  • รักษาหายแล้ว 3,111 คน (+2)
  • ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 126 คน (+2)
  • เสียชีวิตสะสม 58 คน (+0)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine โดยมาจากสหรัฐอเมริกา 3 ราย และไต้หวัน 1 ราย ส่วนในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมา

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,295 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 358 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วอยู่ที่ 3,111 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 126 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

รายละเอียดของผู้ป่วยรายใหม่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ มาจากสหรัฐอเมริกา 3 ราย รายแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงไทยอายุ 44 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 20 ก.ค.63 เข้าพัก State Quarantine ที่จังหวัดชลบุรีและตรวจหาเชื้อในวันที่ 25 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

อีกสองราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 25 ปี และนักศึกษาหญิงไทย อายุ 21 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI คือผู้ป่วยชาย มีอาการไข้และเจ็บคอ และผู้ป่วยหญิงมีอาการไข้และจมูกไม่ได้กลิ่น จึงตรวจหาเชื้อใหม่ในวันที่ 25 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ

ส่วนอีกรายมาจากไต้หวัน 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 30 ปี อาชีพพนักงานโรงแรม เดินทางมาถึงไทย เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อในวันที่ 25 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ พบว่ามีอาการถ่ายเหลว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อมาถึง 16 ล้านรายแล้ว ก็มีข้อกังวลใจว่า เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อ 15 ล้านรายเมื่อ 4 วันที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ยังต้องติดตาม โดยอันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา อันดับสองเป็นบราซิล และอินเดียเป็นอันดับสาม รัสเซียเป็นอันดับสี่ และแอฟริกาใต้เป็นอันดับที่ห้า ส่วนไทยอยู่ที่อันดับที่ 106

ในเวียดนามกลับมาพบผู้ติดเชื้อหลังจากที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมานานเหมือนไทย ก็มีรายงานเป็นศูนย์มาตลอดหลายวัน แต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ก็มีรายงานผู้ติดเชื้อ 1 ราย แล้ว 26 ก.ค.เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย ดังนั้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีตัวเลขเป็นศูนย์ตลอด มีโอกาสที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นมา ไทยจะเป็นวันไหนก็ต้องพยายามช่วยกันรับสถานการณ์ต่างๆไว้ได้

สถานการณ์ของโลกต้องรอคอยว่าเมื่อไหร่จะคงที่และเมื่อไหร่จะค่อยๆลดลงมา ถึงตอนนั้นก็จะแสดงถึงว่าการระบาดทั่วโลกจะมีสถานการณ์ดีขึ้น โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากๆก็จะเป้นตัวบ่งบอกแนวโน้มหรือทิศทางการระบาดของโรค แต่เมื่อมาดูของกลุ่มประเทศเอเชียพบว่า ฟิลลิปปินส์ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาราะเบีย ผ่านจุดที่สูงสุดไปแล้ว และกำลังจะลงมา ซึ่งเป็นระลอกแรกที่ขึ้นมา หลายประเทศก็กังวลว่าจะเกิดระลอกสองหรือไม่ โดยมีประเทศที่เกิดระลอกสองแล้ว ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อิสราเอล โครเอเชีย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แนวทางมาตรการผ่อนคลาย ได้แก่ การใช้รถโดยสารสาธารณะเดินทางข้ามจังหวัดที่ยังต้องเว้นระยะห่าง โดยกรมการขนส่งทางบก ยังยืนยันว่ามาตรการต่างๆได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนส่งของภาครัฐและเอกชนอย่างดี โดยช่วง 28 มิ.ย.-19 ก.ค.มีผลการประเมินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรถโดยสารระหว่างจังหวัด รายงานว่ามีการใช้ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 99.70% มีแอลกอฮอล์มี 98.22% เว้นระยห่าง มี 99.97% ใช้คิดอาร์โค้ดไทยชนะ 98.74%

ส่วนแนวทางมาตรการผ่อนคลายของสถานศึกษา มีข้อมูลสถิติผู้ป่วยสะสมโรคโควิด-19 พบว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ ประมาณ 1-6% กลุ่ม 0-9 ปี 62 ราย หรือ 1.9% กลุ่ม 10-19 ปี ติดเชื้อ 126 ราย คิดเป็น 3.87% และไม่เคยพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อน (cluster)ในโรงเรียนและไม่มีการระบาดในโรงเรียน ทางทีมวิชาการระบุว่าเป็นเพราะตัวรับในโพรงจมูกมีตัวรับเชื้อ (recepter)ของเด็กมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ตัวเชื้อโรคที่จะมาจับมาเกาะมีพื้นที่น้อย จึงทำให้เด็กมีโอกาสได้รับเชื้อน้อย ดังนั้นจะไม่ค่อยได้เห็นเด็กติดเชื้อโควิด-19 แต่สิ่งที่กังวลว่า เด็กอาจจะรับเชื้อเมื่อกลับถึงบ้านก็สามารถนำเชื้อที่ได้รับไปสัมผัสผู้ใหญ่ ซึ่งมีตัวรับเชื้อทำให้ติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องมีการป้องกัน

ปัจจุบัน 4,528 โรงเรียนใช้วิธีสลับกันเรียน ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากการไม่เรียนในห้องเรียนนานๆ อาทิเช่น การเรียนรู้ของนักเรียนถดถอยลง ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา การออกจากการเรียนกลางคัน มีผลกระทบทางโภชนาการ ผู้ปกครองอาจจะต้องลางาน สูญเสียรายได้

ดังนั้นได้มีการพิจารณาร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขว่าข้อพิจารณาการผ่อนคลาย คือให้นักเรียนได้เรียนได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันเข้มข้นขึ้น จัดห้องเรียนให้มีระยะห่างให้มากเท่าที่ทำได้ กรณีห้องแอร์ให้เปิดประตูหน้าต่างในช่วงพักเที่ยง หรือช่วงที่ไม่มีการเรียน โดยมีการกำกับของสาธารณสุขพื้นที่และก.ศึกษาธิการ และมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดูในระดับจังหวัดและมีหน่วยงานดูแลระดับอำเภอ นอกจากนี้กรมอนามัยจะเข้าไปตรวจประเมินและติดตามหลังการเปิดภาคเรียน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top