เชียร์”ซื้อ”PRM ผลงานนิวไฮต่อเนื่องจากธุรกิจ FSU หนุน

โบรกเกอร์ แนะนำ”ซื้อ”หุ้น บมจ.พริมา มารีน (PRM) เล็งผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/63 ทำ New High คาดว่าจะมีกำไรในช่วง 329-427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อนและงวดปีก่อน แม้จะขาดทุนจากขายเรือ แต่ธุรกิจเรือเก็บน้ำมันดิบและน้ำมันเตา (Floating Storage Unit:FSU) ที่ปรับเพิ่มค่าเช่า 20% หนุนรายได้ไตรมาส 2/63 ให้เติบโตขึ้น

พร้อมเล็งกำไรทำ New High ต่อเนื่องไปในไตรมาส 3/63 ด้วย จากเรือ FSU ที่ยังคงโดดเด่นต่อเนื่อง และธุรกิจการขนส่งภายในประเทศ (Domestic Trading) ที่กลับมาฟื้นตัว จากปริมาณการใช้น้ำมันดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์

ส่วนข่าวที่กิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งมีกลุ่ม PRM ถือหุ้นร่วมด้วย ชนะประมูลงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ในส่วนงานก่อสร้างงานทางทะเลนั้น มองเป็นบวกเล็กน้อย โดยประเมินว่า PRM จะมีกำไรจากงานดังกล่าวราว 100 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ใน 4 ปีข้างหน้า

โบรกเกอร์คำแนะนำ  ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ซื้อ9.30
ทิสโก้ซื้อ10.00
เคทีบี (ประเทศไทย)ซื้อ10.60
ฟิลลิป (ประเทศไทย)ซื้อ11.00

นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 2/63 ของ PRM จะทำ New High โดยคาดมีกำไร 329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะขาดทุนจากการขายเรือ 2 ลำในไตรมาสนี้ แต่ธุรกิจเรือ FSU ที่ได้ปรับขึ้นค่าเช่าอีก 20% ในเรือ 6 ลำ จาก 8 ลำ ก็จะมาช่วยหนุนรายได้ของ PRM ในไตรมาส 2/63 ให้เติบโต 23.2%

อีกทั้งยังคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3/63 ก็จะทำ New High ต่อเนื่องอีก เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีการขาดทุนจากการขายเรืออีกแล้ว จึงคาดว่าผลประกอบการของ PRM งวดครึ่งหลังปีนี้จะดีกว่าครึ่งปีแรก จากการรับรู้รายได้ของธุรกิจเรือ FSU เต็มที่ และธุรกิจขนส่งน้ำมันในประเทศก็ดีขึ้นตามปริมาณการใช้น้ำมันดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์

สำหรับผลประกอบการทั้งปี 63 คาดว่า PRM จะมีกำไรสุทธิประมาณ 1,299 ล้านบาท เติบโต 26.9% จากปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 1,023 ล้านบาท

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ตามที่มีข่าวว่ากิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล. มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PRM, บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) ชนะประมูลงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในงานส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ของกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) หลังเสนอราคาที่ 2.13 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ราว 2.2 หมื่นล้านบาทนั้น มองว่าเป็นบวกเล็กน้อย โดยกลุ่ม PRM สัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ที่ 10% หรือคิดเป็นมูลค่างานของ PRM ราว 2.1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ หากประเมินการลงทุนในโครงการนี้มีอัตรากำไรสุทธิ (net margin) ราว 5% หรือคิดเป็นกำไรของกลุ่ม PRM ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ทยอยรับรู้เป็นกำไรใน 4 ปี ขณะที่ประเมินกำไรของ PRM ปี 63-64 ที่ 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีที่แล้ว และ 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ตามลำดับ ดังนั้น กำไรที่จะเพิ่มขึ้นจากงานดังกล่าวคิดเป็นเพิ่มขึ้นปีละ 2% เท่านั้น

เคทีบีฯ ประเมินกำไรสุทธิของ PRM ในไตรมาส 2/63 จะโดดเด่นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 345 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 29% จากไตรมาสก่อน จากธุรกิจเรือ FSU ที่ปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากมีการปรับขึ้นค่าเช่าเรือ ช่วยชดเชยธุรกิจเรือ Domestic Trading ที่ปรับตัวลง จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางลดลง แต่เดือน มิ.ย. เริ่มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น ประเมินว่าจะมีการบันทึกขาดทุนจากการขายเรือ FSO จำนวน 1 ลำ ราว 60 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะมีการบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 35 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิรวมงวดครึ่งปีแรกคาดอยู่ที่ 611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่แนวโน้มกำไรในไตรมาส 3/63 ยังจะทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่อง จากเรือ FSU ที่ยังคงโดดเด่นต่อเนื่อง และเรือ Domestic Trading ที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้ปรับกำไรสุทธิของทั้งปี 63 ขึ้น 9% เป็น 1,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน จากแนวโน้มธุรกิจเรือ FSU ที่ดีกว่าคาด และเรือ Domestic Trading ไม่ได้ชะลอตัวมากเหมือนคาด และปรับขึ้นประมาณการกำไรสุทธิปี 64 จากเดิม 7% เป็น 1,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า จากเรือ Domestic Trading ที่กลับมาเติบโต และมีการรับรู้รายได้จากเรือใหม่เพิ่มขึ้น

บทวิเคราะห์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่าทิศทางผลกำไรของ PRM คาดจะทำสถิติใหม่อีกครั้งในไตรมาส 2/63 สะท้อนว่าในปี 63 ยังมีแนวโน้มจะทำได้ดีกว่าที่มองไว้ราว 5-10% โดยจะทบทวนประมาณการอีกครั้งหลังแผนปรับกองเรือในครึ่งปีหลังได้ข้อสรุปชัดเจน โดยปัจจุบัน PRM ซื้อขายที่ P/E ปี 63 ที่ระดับ 17.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ราว 18% ขณะที่ EPS growth ขยายตัวน่าพอใจราว 24% ทำให้สถานะของ PRM ยังคง Undervalue

ทั้งนี้ คาดว่า PRM จะทำกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 ได้ที่ 427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% จากไตรมาสก่อน และ 51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้คาดว่าจะทะลุ 1,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และ 27% จากงวดปีก่อน หลัก ๆ มาจากการปรับราคาให้บริการกลุ่มเรือ FSU ขึ้นเฉลี่ย 20% ซึ่งด้วยความที่เป็นหน่วยงานที่ให้มาร์จิ้นสูง และมีสัดส่วนรายได้กว่า 47% ของรายได้รวม และคาดจะส่งกำไรขั้นต้นเข้ามาถึง 69% ของภาพรวมไตรมาส 2/63 เมื่อเทียบกับระดับ 62% ไตรมาสก่อน และ 52% ในงวดเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะดีดขึ้นเป็น 37.8% จาก 33.3% ในไตรมาสก่อน และ 31.7% ในปีก่อนอีกด้วย

ทิศทาง Margin expansion แบบนี้ จะพบในทุก ๆ อัตรากำไรของ PRM โดยเฉพาะอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) ที่จะขยายตัวแรงมากเป็น 44.0% จาก 34.6% ปีก่อน อันเนื่องมาจากการได้ประโยชน์จากขนาด (Economies of scale)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top