“ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน”ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา เข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ ได้แก่ 1.ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2.นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง 3.ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4.ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5.ผศ.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 6.นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี และ 7.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

นายศุภชัย กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาฯเป็นไปตามความตั้งใจที่ต้องการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ การระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีจากทางภาครัฐ นักวิชาการ และหน่วยงานเอกชนชั้นนำ จะทำให้เข้าใจบริบทของการพัฒนาและปัจจัยความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม โดยการพัฒนาด้านความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มุ่งเน้น 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การพัฒนาความยั่งยืนด้านสังคม 2.การพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และระบบนิเวศน์เชิงเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาสังคมและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน

“เราเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เหตุผลสำคัญที่เครือฯสนใจและเข้าไปลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสังคม ที่เครือยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่สำคัญโครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของภูมิภาคอาเซียน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และสามารถส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV ให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน”

นายศุภชัยกล่าว

ขณะที่ ศ.สุชัชวีร์ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่รถไฟความเร็วสูงฯสายนี้คือเส้นทางสายโอกาส และสัญลักษณ์ความภูมิใจของประเทศไทย ตลอดเส้นทาง 220 กิโลเมตรของรถไฟความเร็วสูงฯสายนี้จะสร้างโอกาส สร้างงาน และถือเป็นอีกหนึ่งโครงการระดับชาติที่จะทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศไทย เหมือนกับโครงการระดับโลกในอดีต เช่น เขื่อนฮูเวอร์ในสหรัฐอเมริกาที่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้านวิศวกรรม เป็นเขื่อนแห่งประวัติศาสตร์ที่สร้างภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หรือ รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่นที่เป็นรถไฟแห่งความผูกพันและเป็นตัวแทนความรุ่งโรจน์ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความภูมิใจของประเทศไทยหรือ Pride of Thailand และในด้านความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องคำนึง 4 ด้าน ได้แก่ 1. Environmental friendly 2.Circular economy 3. Inclusive economy 4.Glass roots development ทั้งนี้มั่นใจว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะเป็นเครื่องมือสร้างความเจริญให้แก่คนในพื้นที่และทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า

ขณะที่นายวิวัฒน์ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะนำไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน และมีความเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นของคนไทยทุกคน จะต้องสร้างให้เกิดพฤติกรรมการเดินทางรถไฟ ด้วยการส่งเสริมแนวคิด เดินทางโดยรถไฟช่วยลดมลพิษ และเป็นการลดใช้พลังงาน นอกจากนี้ต้องพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้แข็งแรง รักษาวัฒนธรรมและอาชีพของท้องถิ่นไว้ให้ได้ตลอดจนรักษาเงื่อนไขระดับนิเวศของสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ได้

สำหรับ ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดำเนินการในรูปแบบ “แพลตฟอร์มแห่งปัญญา” ด้วยการจัดทำผังภูมิศาสตร์เชื่อมโยง 5 จังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินผ่าน คือ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และ ระยอง โดยต้องวางรูปแบบการพัฒนาสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาอย่างชาญฉลาด โดยใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นนวัตกรรมหรือเครื่องมือในการเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเจริญ 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการคิดให้ครบทุกด้าน ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม และ 3.สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ต้องคำนึงถึงการปกป้องธรรมชาติ รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์

ขณะที่มุมมองนักวิชาการในพื้นที่ภาคตะวันออก ผศ.อนุรัตน์ กล่าวว่า ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องเน้นการน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตอบโจทย์ 4 ประเด็นคือ ประโยชน์จากรถไฟฟ้า ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการเตรียมการเพื่อลดผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาใน 4 มิติ คือ พัฒนาโครงการ พัฒนาบุคลากร พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศ

นายธีรินทร์ กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะต้องเชื่อมโยงกับชุมชน ส่งเสริมสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs เพื่อกระจายรายได้อย่างทั่วถึงไม่เพียงแค่พื้นที่ตามสถานี แต่สามารถขยายไปยังพื้นที่รอบจังหวัดอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top