SPCG เผยแนวโน้ม Q3/63 รับงานโซลาร์รูฟหด-หวังปิดดีลโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น

นายพิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะลดลงจากไตรมาส 2/63 แต่ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปของบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท้อปออกไป จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามากระทบธุรกิจ ทำให้ทุกคนต้องปรับแผนการลงทุนใหม่

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงติดตามงานอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่างานจากภาคเอกชนในปีนี้จะหายไปค่อนข้างมาก และงานประมูลของภาครัฐยังไม่มีออกมา ทำให้ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปได้รับผลกระทบเข้ามามาก และกระทบต่อภาพรวมของผลการดำเนินในช่วงไตรมาส 3/63 ที่คาดว่าผลกระทบจะเข้ามาชัดเจนขึ้น

นอกจากนั้น ธุรกิจลีสซิ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในอาคารบ้านเรือน และอาคารโกดังของโรงงานอุตสาหกรรม ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้งานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปชะลอออกไป ทำให้การปล่อยสินเชื่อในปีนี้คงจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้กว่า 100 ล้านบาท แต่บริษัทยังรอดูสถานการณ์ของลูกค้าในช่วงปลายปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร หากสถานการณ์กลับมาดีขึ้นบริษัทจะเดินหน้ารุกขยายงานและให้สินเชื่อมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของธุรกิจในปี 63 บริษัทยังคาดว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ปรับลดลงมาเหลือ 5.5 พันล้านบาท โดยมีธุรกิจโซลาร์ฟาร์มสร้างรายได้หลัก และเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยในปีนี้บริษัทจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโซลาร์ฟาร์มในประเทศทั้ง 36 แห่ง เป็น 390 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ จากในครึ่งปีแรก COD ไปแล้ว 260 เมกะวัตต์ และยังมีรายได้จากการ COD ของโซลาร์ฟาร์ม Tottori Yonago Mega Solar กำลังการผลิต 30 เมกาวัตต์เข้ามาเสริม

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะเข้าลงทุนโซลาร์ฟาร์มอีก 2-3 แห่งในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตรวม 60-65 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา แม้ว่าจะล่าช้าออกไปเนื่องจากการปิดประเทศช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงปลายปี 63 หรือต้นปี 64 และยังเตรียมปิดดีลการร่วมลงทุนโครงการนวัตกรรมรูปแบบใหม่กับพันธมิตร มูลค่าโครงการกว่า 1 หมื่นล้านบาทในช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยหากดีลนี้มีความชัดเจนบริษัทก็เตรียมแผนออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาใช้ลงทุน เพราะมองว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่สูง จึงไม่กระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทมากนัก

ขณะที่บริษัทยังคงเป้าหมายในระยะยาวปี ปี 80 จะมีกำลังผลิตโซลาร์เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ หรือราว 30% ของกำลังการผลิตของประเทศกว่า 9,000 เมกะวัตต์ โดยบริษัทยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นตามแผน ขณะดียวกันยังมีโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นโครงการ Ukujima Mega Solar กำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในช่วงเดือน ก.ค.66

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top