ปลัดคมนาคม ยังไม่เคาะวงเงินเพิ่มหมื่นลบ.รถไฟสายสีแดง หลังรฟท.แจงรายการไม่ครบ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือเรื่องการปรับกรอบวงเงินลงทุนเพื่อหาแหล่งเงินเพิ่มเติมในโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดที่ส่งผลให้วงเงินค่าก่อสร้างและค่างานเพิ่มประมาณ 10,345 ล้านบาท ซึ่งมีกว่า 200 รายการ

แต่เนื่องจากรายละเอียดที่รฟท.ชี้แจง ยังไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ จึงมอบหมายให้รฟท. กลับไปทำรายละเอียดแจกแจง ทุกรายการให้ชัดเจนรวมถึงวงเงินที่ต้องตรงกับรายการ และส่งข้อมูลให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ภายในวันที่ 20 ส.ค. เพื่อตรวจสอบ เช็ครายละเอียดก่อน จากนั้นจึงจะประชุมอีกครั้ง

ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ให้พิจารณารายละเอียดของการเพิ่มวงเงิน และสรุปให้ภายใน 2 สัปดาห์นั้นซึ่งคือภายในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นจะรายงานความคืบหน้าต่อรมว.คมนาคมให้รับทราบก่อน

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า กรณีวงเงินไม่ตรงกับรายการที่เสนอ และการตรวจสอบงานที่ทำเพิ่มว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หากรายการของงานลดลง จะส่งผลให้ช่วยลดกรอบวงเงินที่จะขอเพิ่มด้วย โดยเบื้องต้นในสัญญาก่อสร้างนั้นจะมีวงเงินค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) ซึ่งให้รฟท.ดูว่า ยังมีวงเงินเหลือใช้ได้อีกหรือไม่ด้วย

โดยพบว่า ในกว่า 200 รายการ ไม่ตรงกับวงเงินที่เสนอ นอกจากนี้ มีทั้งงานที่ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วและ ที่ยังเป็นคำสั่ง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องดูว่า รายการที่ยังไม่ทำนั้นมีความจำเป็นต้องทำจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ทางรฟท. จะต้องชี้แจงข้อมูล กรณีผู้มีอำนาจสั่งการและอนุมัติในการเพิ่มงานซึ่งคณะอนุกฎหมาย ของบอร์ดรฟท.ได้มีการประชุมในประเด็นนี้ ซึ่งต้องตีความข้อกฎหมาย โดยเบื้องต้น การบริหารสัญญาก่อสร้าง รฟท.มีคำสั่งแต่งตั้งวิศวกรผู้มีอำนาจ หรือ The Engineer ซึ่งจะมีการระบุชื่อ และหน้าที่ ขอบเขต อำนาจในการสั่งการ เช่น สั่งหยุดงาน สั่งเพิ่มงาน แต่ไม่มีวงเงิน ซึ่งการมีคำสั่งนั้นต้องดูขอบเขตอำนาจ ในฐานผู้ว่าจ้าง ซึ่งหมายถึง จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าฯรฟท.หรือไม่อย่างไร หรือคำสั่งที่มอบวิศวกร เป็นการมอบเด็ดขาดแค่ไหน โดยให้รฟท.ชี้แจงข้อมูลในวันที่ 20 ส.ค. เช่นกัน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า หลักการคือจะต้องมีการเปิดเดินรถสายสีแดง แต่การจะเปิดเดินรถ จะต้องมีความมั่นใจในระบบ ความปลอดภัย ดังนั้น รฟท.จะต้องพิจารณาว่า รายการที่จะทำเพิ่มนั้นจำเป็นหรือไม่ หรือกรณีจะตัดออกเพื่อประหยัด งานที่ตัดไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อการเดินรถ ความปลอดภัย หรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top