In Focus: จับตาจุดเปลี่ยนการเมือง “เบลารุส” ฤาจะถึงจุดจบเผด็จการชาติสุดท้ายของยุโรป?

ถนนหนทางในกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คราคร่ำไปด้วยฝูงชนนับแสนที่ออกมารวมตัวกันพร้อมส่งเสียงตะโกนกึกก้องไล่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา และโกรธแค้นต่อการกระทำของรัฐบาลที่ใช้กำลังปราบปรามฝูงชนซึ่งออกมาคัดค้านผลการเลือกตั้งในวันดังกล่าว เกิดอะไรขึ้นกับเบลารุส เหตุใดประชาชนจึงลุกฮือขึ้นมาโค่นอำนาจผู้นำที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 26 ปี In Focus สัปดาห์นี้จะพาไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

ธงชาติเบลารุสโบกสะบัด ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมารวมตัวกันในกรุงมินสก์ เพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
(ภาพ: รอยเตอร์)

รู้จักเบลารุส

เบลารุส หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเบลารุส ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต จนเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายก็ได้ประกาศเอกราชในปี 2534 และเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศของเครือรัฐเอกราช โดยมีรายได้หลักมาจากการส่งออกซึ่งกินสัดส่วนกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัสเซีย

หลังประกาศเอกราช เบลารุสปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร และได้จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2537 ซึ่งในครั้งนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับแรกได้กำหนดให้ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ต่อมาในปลายปี 2537 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกข้อจำกัดเรื่องสมัยการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตราบเท่าที่ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้เบลารุสมีประธานาธิบดีเพียงคนเดียวนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกมาจนถึงปัจจุบัน

เผด็จการชาติสุดท้ายของยุโรป

ผลพวงจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ส่งผลให้เบลารุสตกอยู่ภายใต้อำนาจของ นายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีคนแรกที่อยู่ในตำแหน่งมานาน 6 สมัย กินระยะเวลาถึง 26 ปี จนถูกขนานนามว่าเป็น เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป เนื่องจากเขาเป็นอดีตผู้บริหารฝ่ายเกษตรกรรมของสหภาพโซเวียตซึ่งมีแนวคิดแบบอำนาจนิยม และได้นำนโยบายเผด็จการแบบเดียวกับสมัยสหภาพโซเวียตมาใช้ เช่น การควบคุมสื่อและการกักขังลงโทษผู้เห็นต่างทางการเมือง

ที่ผ่านมา นายลูกาเชนโก มักใช้วิธีการทำให้ประชาชนเชื่อว่าเขาเป็นผู้นำที่จะสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งให้กับประเทศ ซึ่งยังคงเรียกคะแนนนิยมจากคนรุ่นเก่าได้อยู่บ้าง แต่หลักๆ แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าเขาต้องการครองอำนาจในประเทศนี้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งสมัยแรกเพื่อปูทางสืบอำนาจของตนต่อไป และก็สามารถทำได้สำเร็จตลอดมาแม้จะด้วยวิธีการใด หรือจะมีกระแสกดดันจากนานาชาติเข้ามามากเพียงใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดูจะไม่ง่ายเหมือนทุกครั้ง เมื่อรัฐบาลของนายลูกาเชนโก ต้องเผชิญกับที่นั่งลำบาก อันเนื่องมาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ พากันออกมาตรการคุมเข้มสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้าน แต่นายลูกาเชนโก กลับสนับสนุนให้ประชาชนดื่มวอดก้า, ไปอบซาวน่า และให้กลับไปทำงาน ทั้งยังคงประกาศเปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับเชื้อไวรัสแต่อย่างใด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่เกือบ 70,000 ราย ซึ่งได้สร้างความพอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ยังไม่นับรวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ยังคงหนักหน่วง

ระเบิดเวลาถูกถอดสลัก

มาถึงตรงนี้ คงมีคนสงสัยว่าทำไมผู้นำเผด็จการสุดโต่งอย่างนายลูกาเชนโก ถึงครองอำนาจในเบลารุสมาได้นานเกือบ 3 ทศวรรษ แน่นอนว่าชาวเบลารุสเองก็รู้สึกกังขากับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่มีคู่แข่งรายใดที่สามารถก้าวข้ามอิทธิพลและอำนาจรัฐเพื่อเข้ามาโค่นอำนาจของนายลูกาเชนโกได้สำเร็จ จนปรากฏชื่อของนายเซอร์ไก ทิคานอฟสกายา ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดังและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของนายลูกาเชนโก เตรียมลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมทำให้นายลูกาเชนโกอยู่เฉยไม่ได้ การดำเนินการสกัดคู่แข่งจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยรัฐบาลได้จับตัวนายเซอร์ไกไปขังไว้ในคุกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น โดยที่คาดไม่ถึงว่านางสเวทลานา ทิคานอฟสกายา ภรรยาวัย 37 ปีของนายเซอร์ไกจะตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งแทนสามี และดึงกระแสนิยมจากประชาชนเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก

ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดสะบั้นลงในทันทีที่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏออกมาว่า นายลูกาเชนโก คว้าคะแนนเสียงได้กว่า 80% เอาชนะคู่แข่งอย่างนางทิคานอฟสกายาที่คว้าไปได้เพียง 9.9% อย่างไม่ต้องลุ้น ขณะที่นางทิคานอฟ คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ยืนยันว่าเธอน่าจะได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60-70% จากการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้ฝูงชนจำนวนมากที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นว่านายลูกาเชนโก โกงการเลือกตั้ง เพื่อยึดครองอำนาจทั้งๆ ที่ได้คะแนนนิยมจากประชาชนน้อยลง ลุกฮือออกมาประท้วงทั่วประเทศ โดยมีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า การประท้วงในกรุงมินสก์ มีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมอย่างน้อย 200,000 คน ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ที่เบลารุสประกาศเอกราช และทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 ราย และอีกหลายพันคนถูกคุมตัว ส่วนนางทิคานอฟสกายา ต้องลี้ภัยไปอยู่ลิทัวเนีย หลังจากที่เธอเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยตนเอง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้นานถึง 7 ชั่วโมง

ท่าทีประชาคมโลก

สถานการณ์ในเบลารุสกำลังเป็นที่จับตาของนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเบลารุสถูกขนานนามว่าเป็น “เผด็จการชาติสุดท้ายของยุโรป” ซึ่งเคยถูกสหภาพยุโรป (EU) ออกมาตรการลงโทษในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาแล้วหลายครั้ง ในขณะที่ภาพการประท้วงใจกลางกรุงมินสก์ที่ถูกเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อทั่วโลก ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของรัฐบาลที่ตั้งเป้ากวาดล้างและจับกุมผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้ตี ยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้ EU ถึงกับต้องออกมาประกาศว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรเบลารุสอีกครั้งหากมีการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง พร้อมแสดงความกังวลไปยัง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับเบลารุสให้เข้าไปจัดการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในเบลารุสด้วยการเจรจาแบบสันติวิธี หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัสเซียได้เสนอความช่วยเหลือทางการทหารแก่เบลารุสภายใต้ข้อตกลงด้านการทหารที่มีระหว่างกัน

ความเคลื่อนไหวของพี่ใหญ่รัสเซียเองก็นับเป็นอีกประเด็นที่กำลังถูกจับตา เพราะเบลารุสอยู่ในฐานะที่เป็นเสมือนกันชนกั้นระหว่างการรัสเซียกับยุโรป ขณะที่สหรัฐและชาติยุโรปกำลังทำท่าจะขยับรุกคืบเข้าประชิดพรมแดนรัสเซียใกล้เข้าทุกที ด้วยเหตุนี้รัสเซียถึงกับต้องออกมาประกาศกร้าวไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองในเบลารุสตั้งแต่เกิดความวุ่นวายขึ้นแรกๆ … เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่เผด็จการชาติสุดท้ายของยุโรปจะถูกปิดตำนานลงในคราวนี้ เราคงต้องติดตามกันต่อไป!

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top