ศบค.พบคนไทยติดเชื้อโควิด 2 รายที่เคยกักตัวแต่โอกาสแพร่เชื้อน้อย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ร่วมกับ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2 ราย ซึ่งไม่แสดงอาการ โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จากนั้นเข้าพักในสถานกักตัวของรัฐจนครบกำหนด จากนั้นเมื่อออกไปแล้วก็พยายามกักตัวจนครบ 30 วัน

รายแรกเป็นหญิงวัย 34 ปี เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดินทางกลับไทย เคยกักตัวใน State Quarantine ตรวจเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.พบสารพันธุกรรมในปริมาณน้อย สรุปผลกำกวม ตรวจเชื้อครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ไม่พบเชื้อ เมื่อกักตัวครบ 14 วันจึงเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ จ.ชัยภูมิ และพักแยกตัวจนครบ 30 วัน

ต่อมาวันที่ 17 ส.ค.เข้ารับการตรวจสุขภาพอีกครั้งที่ รพ.รามาธิบดี เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ผลตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ในปริมาณน้อย มีภูมิคุ้มกันแล้ว สรุปว่าเป็นผู้ติดเชื้อรายเดิมที่มีการพบซากเชื้อ

รายที่ 2 เพศหญิงอายุ 35 ปี เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกัน เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.และเข้ากักตัวใน State Quarantine 14 วัน ตรวจเชื้อ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับภูมิลำเนา จ.เลย จากนั้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค.เดินทางเข้า กทม.ด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

และวันที่ 18 ส.ค. เข้ารับการตรวจสุขภาพ และพบสารพันธุกรรมโควิด-19 ขณะนี้ทาง รพ.รามาฯ ได้ติดตามนำตัวมาดูแลแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลทางระบาดวิทยาเชื่อว่ามีโอกาสจะเป็นการติดเชื้อในประเทศน้อยมาก แต่ต้องทำการตรวจสอบด้วยกระบวนการเดียวกับรายแรก

ทั้งนี้ ได้มีการประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดเพื่อติดตามผู้อยู่ใกล้ชิดในครอบครัวและชุมชน โดยแนะนำให้เฝ้าระวังอาการเท่านั้น

สำหรับผู้ติดเชื้อรายแรกพบว่าเป็นซากเชื้อที่ตายแล้วไม่สามารถแพร่ระบาดได้ ส่วนอีกรายเพิ่งได้รับตัวเข้ามาในช่วงเที่ยงวันนี้ จึงต้องมีการตรวจสอบเชื้อก่อนเพื่อรอการยืนยันก่อนว่าเป็นการติดเชื้อมาอย่างไร แต่เบื้องต้นน่าจะแป็นลักษณะคล้ายกัน

ดังนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศถือว่ามีโอกาสการติดเชื้อต่ำ แต่เพื่อความปลอดภัยจึงรับบุคคลดังกล่าวเอาไว้ดูแลอาการ ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีผลตีพิมพ์ของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ (USCDC) ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 16 ส.ค.รีวิวข้อมูทางระบาดวิทยาของผู้ติดเชื้อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการพบเชื้อไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคแล้วในคนที่เคยได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 ได้นานถึง 3 เดือน

ซึ่งในประเทศไทยก็เคยมีผู้ติดเชื้อที่ต้องพักรักษาอาการในโรงพยาบาลถึง 2 เดือนเศษ เพราะขณะนั้นยังไม่มีความรู้มากพอ จึงต้องตรวจจนกระทั่งไม่พบเชื้อจึงให้กลับบ้านได้ แต่ข้อมูลในช่วงหลังพบว่าหลังจาก 8 วันไปแล้ว เชื้อที่ตรวจเจอไม่สามารถเพาะเลี้ยงขึ้น สะท้อนว่าเชื้อไม่ได้มีความสามารถเพิ่มจำนวนหรือแพร่เชื้อได้ ตรงกับที่เรากักตัวคนที่ได้รับเชื้อ 14 วันให้ยาวกว่าระยะ 8 วันถึง 2 เท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top