สรรพากร รับจัดเก็บรายได้ปี 63-64 พลาดเป้าจากมาตรการเลื่อนยื่นแบบภาษี

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา “วิถีใหม่…ให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย” (Easy Tax Transforms Your Life) ว่า ในการจัดเก็บรายได้ของกรมฯปีนี้จะต้องหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อีกครั้ง โดยวัดจากการจัดเก็บรายได้เดือน ส.ค. เป็นตัวชี้ขาดว่าการเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 63 จะเป็นเท่าใด

เนื่องจากที่ผ่านมาการทำประมาณการรายได้อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% แต่ขณะนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -8% ดังนั้น เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 2.11 ล้านล้านบาทคงไม่สามารถทำได้ในภาคปฏิบัติ แต่ก็คงไม่นำเรื่องเป้าหมายดังกล่าวมาเป็นตัวตั้ง เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน

อย่างไรก็ดี การเก็บรายได้ในปี 63 ยังไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเป็นการเก็บจากฐานรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการในปี 62 ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการจัดเก็บรายได้ในปี 64 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2.08 ล้านล้านบาทตามเอกสารงบประมาณ จะต้องกลับมาพิจารณาในภาพใหญ่อีกครั้ง

“การเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายเกิดจากการเลื่อนยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลไปสิ้นสุด 31 ส.ค.63 เพราะกรมต้องการให้ความสำคัญกับการช่วยประชาชน และเร่งคืนภาษี ซึ่งตอนนี้บุคคลธรรมดาคืนไปแล้วกว่า 95% คิดเป็น 3 ล้านคน เม็ดเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ส่วนนิติบุคคลคืนแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท…วันนี้ถ้ามุ่งเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย คนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 63 รวม 10 ล้านราย จากปีก่อน 11.5 ล้านราย ส่วนนิติบุคคลยื่นแล้ว 2 แสนรายจากปีก่อน 5 แสนราย คาดว่าใกล้วันสิ้นสุดยื่นแบบจะได้จำนวนใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งกรมฯ จะพยายามสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ให้เข้ามายื่นแบบเสียภาษี โดยจัดตั้งทีมที่ปรึกษากรมสรรพากร พร้อมให้คำแนะนำผู้ค้าออนไลน์สามารถเดินมาที่สรรพากรพื้นที่ เพื่อเสียภาษีถูกต้องได้ภายในวันที่ 31 ส.ค.

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 กรมสรรพากรพร้อมที่จะให้ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องมีภาษีที่ชำระไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ถ้าไม่ต้องการจ่ายครั้งเดียวก็ผ่อนชำระได้ดีกว่าปล่อยไว้ ซึ่งจะโดยเบี้ยปรับ 1.5% ของภาษีประเมิน เป็นไปตามประมวลรัษฎากร ไม่มีผ่อนผัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูง

ส่วนนิติบุคคล หากมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากการชำระภาษี สามารถนำหลักฐานการชำระภาษีไปใช้ยื่นกู้กับธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องได้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมในโครงการสินเชื่อต่อยอดผู้ประกอบการดีชำระภาษีถูกต้อง

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้นำ Digital Transformation มาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษี โดยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษี เกิดขึ้นภายใต้ 9 ระบบดิจิทัล ได้แก่

1.Tax from Home ประกอบด้วย e-Registration การลงทะเบียนขอยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต และนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านทางอีเมล, e-Filing การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเตอร์เน็ต, e-Payment การชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ และ e-Refund การคืนเงินภาษี

2.My Tax Account เป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบสิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ

3.e-donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับรองข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยรับบริจาค

4.Open API ระบบที่พัฒนาสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากรเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์

5.RD Smart TAX Application นวัตกรรมใหม่ในการจัดการด้านด้านภาษี มิติใหม่ของการให้บริการธุรกรรมของภาครัฐ ผ่านแอปพลิเคชั่น

6.VRT on Blockchain ระบบการคืนเงินภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นที่ใช้ระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนในการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นที่แรกของโลก

7.e-Tax Invoice&e-Receipt ใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้และใบรับที่จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

8.e-Withholding Tax ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินทั้งในและต่างประเทศ จะมีการนำส่งข้อมูลและภาษีพร้อมการชำระเงินผ่านธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการในระบบดังกล่าวแทนการยื่นด้วยแบบกระดาษ ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี และสามารถตรวจสอบหลักฐานได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 1 ต.ค. นี้ และ

9.e-Stamp Duty การชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเสียภาษี เป็นการส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบ e-Business ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top