WHO วอนทั่วโลกศึกษาประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันโควิด หลังพบติดเชื้อซ้ำในฮ่องกง

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อตัดสินว่า มนุษย์มีภูมิคุ้มกันในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้นานเพียงใด หลังจากที่ฮ่องกงรายงานว่าพบชายวัย 33 ปีติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำเป็นครั้งที่ 2

มาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO ระบุว่า ขณะที่บุคคลซึ่งติดเชื้อโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันตัวเองขึ้นมานั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจนจนถึงขณะนี้ว่า ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนั้นจะแข็งแกร่งและอยู่ได้ยาวนานเพียงใด

นางเคอร์โคฟระบุว่า WHO ได้แนะนำประเทศต่างๆ ให้ทำการตรวจหาลำดับนิวคลีโอไทด์ (DNA sequencing) ของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่า โรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างไร รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว

ในกรณีของผู้ป่วยชาวฮ่องกงที่ติดเชื้อซ้ำนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงพบความแตกต่าง 24 นิวคลีโอไทด์ในไวรัสที่ชายดังกล่าวติดเชื้อครั้งแรกในเดือนมี.ค. และในไวรัสที่เขาติดเชื้อซ้ำในเดือนส.ค.

นางเคอร์โคฟเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวออนไลน์ว่า “เราไม่จำเป็นต้องด่วนสรุปใดๆ แม้ว่ากรณีนี้จะเป็นการติดเชื้อซ้ำรายแรก เพราะจากประสบการณ์ของเรากับการติดเชื้อโรคอื่นๆ ของมนุษย์ รวมถึงเชื้อ MERS และ SARS ทำให้เรารู้ว่า มนุษย์มีการสร้างภูมิคุ้มกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ภูมิคุ้มกันนั้นอาจลดลง”

“เราจำเป็นต้องทำการศึกษาเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นไปอย่างไร แต่เราไม่ต้องการให้ทุกคนหวาดวิตก เราจำเป็นต้องมั่นใจว่า ประชาชนต้องเข้าใจในเรื่องนี้เมื่อพวกเขาติดเชื้อแม้ว่าจะติดเชื้อที่ไม่รุนแรง พวกเขาจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น” นางเคอร์โคฟระบุ

นางเคอร์โคฟกล่าวด้วยว่า ในกรณีผู้ติดเชื้อซ้ำในฮ่องกงนั้น นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องตัดสินว่า เขาสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ระหว่างการติดเชื้อครั้งแรกหรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จะช่วยปกป้องพวกคุณจากการติดเชื้อ

ก่อนหน้านี้ ฮ่องกงได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เป็นรายแรกของโลก โดยผู้ติดเชื้อเป็นชายวัย 33 ปี ซึ่งมีสุขภาพแข็งแรง โดยเขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หลังเดินทางกลับจากสเปน และมีระยะเวลาห่างจากการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 4 เดือนครึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top