ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น -10% หลังโควิด-การเมืองกดดัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ลงมาอยู่ที่ -10% จากเดิมที่ -6% พร้อมมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง ความไม่แน่นอนดังกล่าว จะทำให้เห็นการฟื้นตัวในรูปแบบยูเชฟ (U-Shaped)

“การจะประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใดนั้น กลายเป็นโจทย์ยากของทางการไทยที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวะการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสฯ เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายรออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า แต่ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จึงยังไม่กังวลระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้

ส่วนด้านนโยบายการเงิน คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย และเลือกติดตามสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะช่วงหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ฯ ในช่วงปลายไตรมาส 3

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นอกจากความไม่แน่นอนข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่หดตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะหดตัว -12% จากเดิมที่คาด -6.1%, การนำเข้า -16.8% จากเดิมคาด -10.9%, การบริโภคภาคเอกชน -3.3% จากเดิม -2.3% และการลงทุนปีนี้คาดจะ -7.9% จากเดิมคาด -4.5% โดยการลงทุนภาคเอกชน -12.1% จากเดิม -6.6%

ขณะที่การบริโภคของรัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3% จากเดิม 2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 6% จากเดิม 3.1%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาด -1.2% จากเดิมคาด -0.5%

นางสาวณัฐพร กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยมองว่ายังไม่น่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้ และวัคซีนที่มีการพัฒนาอยู่ในต่างประเทศน่าจะออกมาในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ประมาณปลายปี 64 หรือต้นปี 65 ซึ่งก็ต้องติดตามดูต่อว่าภาครัฐจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้ประชาชนในประเทศได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน

ด้านค่าเงินบาทปีนี้มองมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้น คาดสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์จากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่า ขณะที่กระแสเงินทุน ปัจจุบันยังคงไหลออกตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ไม่ใช่เรื่องของดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งรวมถึงการทำกำไรที่ลดลงของบริษัทจดทะเบียน และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับนโยบายเงินเฟ้อ สะท้อนว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย โดยยังคงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำในระยะถัดไป และการทำมาตรการ QE ที่จะอยู่ไปอีกนาน

ดังนั้น จึงมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเป็นรูแบบ (U-Shaped) โดยจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 1/64 บนคาดการณ์ว่าจะ ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกรอบ, เริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ในปี 64 และภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากฐานะทางการเงินของภาครัฐแล้ว ถือว่ายังมีความแข็งแกร่ง จากปัจจุบันที่มีวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินฯ ราว 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5.55 แสนล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูฯ 4 แสนล้านบาท, พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 63 วงเงิน 8.88 หมื่นล้านบาท และพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 ที่มีการตั้งงบกลาง กรณีฉุกเฉิน 9.9 หมื่นล้านบาท และแก้ไขปัญหาโควิด-19 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท โดยรวมแล้วภาครัฐมีวงเงินในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คิดเป็น 4.5% ของ GDP

แต่ในการดำเนินมาตรการภาครัฐ สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลมากที่สุดระหว่างมาตรการดูแลเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วย ความทันการณ์ ขนาดของมาตรการ และประสิทธิผลของมาตรการ กับต้นทุนในการดำเนินมาตรการ ที่ประกอบด้วย หนี้สาธารณะ ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความเสียหายของธุรกิจ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยทางศูนย์วิจัยฯ คาดว่าปี 63 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 52%-54% และในปี 64 จะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 57%-60%

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิรไทย กล่าวถึงภาคการเงินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 63 มีโอกาสเร่งตัวขึ้นมาขยายตัว 6.5-8.0% เทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3% เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในการพักหนี้-ดอกเบี้ย และความต้องการสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในภาคธุรกิจไทย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีความกังวลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว โดยคาดว่า NPL จะเร่งตัวขึ้นมาแตะ 3.5% ในสิ้นปีนี้ จากสิ้นเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ 3.2% และปี 62 อยู่ที่ 3.1% แต่เชื่อว่าเครื่องมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีอยู่จะช่วยบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับอัตราดอกเบี้ยในระบบ และปัจจุบันเงินฝากธนาคารพาณิชย์ก็เติบโตสูงราว 9-10% จากปีก่อน

นอกจากนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะใน SMEs หลังจากในช่วง 6-8 เดือนแรกได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องต่างๆไปแล้ว คิดเป็นวงเงินรวม 3.6 แสนล้านบาท แต่ SMEs ก็ยังมีความต้องการสภาพคล่องอีกมาก โดยคิดเป็นวงเงินประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่า เป็นต้น

สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่จะออกมาเพิ่มเติมนั้น ภาครัฐควรจะมุ่งเน้นไปที่

  1. การเพิ่มรายได้ เช่น การทยอยเปิดประเทศ,มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ, การอุดหนุนธุรกิจที่เชื่อมโยงถึงการจ้างงาน
  2. เติมสภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงลูกค้า และอุดหนุนเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับสถานบันการเงิน
  3. ผ่อนปรนการจัดการหนี้ เช่น ความต่อเนื่องของเงื่อนไขการชำระหนี้ของลูกค้า รวมถึงสถาบันการเงิน ผ่อนปรนเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในระยะเวลาที่มากพอ เพื่อรองรับจังหวะการฟื้นตัวของลูกหนี้

ด้านสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ถือว่ายังมีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากสถานะเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tire 1) ของไทยอยู่ที่ 15.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5-9.5% และ สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ในประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 13.9%, สิงคโปร์ ที่ 14.9%, สหรัฐฯ ที่ 12.7% อีกทั้งยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงทำให้มั่นใจว่ายังทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการประคองลูกค้าผ่านวิกฤตนี้ไปได้

“เรามองว่า NPL จะเป็นขาขึ้น โดยกลุ่ม SMEs มีความน่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากขาดสภาพคล่อง และยังไม่มีรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภัตราคาร โรงแรม และธุรกิจซื้อมาขายไป หรือ เทรดดิ้ง”

นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลักไปก่อน และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยมองว่าการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง หรือประมาณ 1-2 ปี หรือกลับไปสู่ภาวะก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย บนภาวะที่มีวัคซีน ทยอยเปิดประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการการดูแล ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งคงเป็นกลุ่มที่ทางการอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top