BGRIM จับมือ AMATA พัฒนาสมาร์ทซิตี้เพิ่มพื้นที่ผลิตไฟฟ้า,H2/63 รับผลดีราคาก๊าซต่ำลง

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนด้านสมาร์ทซิตี้ร่วมกับ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าในประเทศรูปแบบใหม่ และเป็นทิศทางในอนาคต หลังเตรียมนำร่องพัฒนาผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นรองรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กำลังผลิตรวม 95 เมกะวัตต์ (MW)

รวมถึงโครงการส่วนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง (Yangon Amata Smart & Eco City :YASEC) ในเมียนมา โดยมีความเป็นไปได้ที่บริษัท และกลุ่ม บมจ.ปตท.(PTT) จะร่วมมือกันพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในนิคมฯ ซึ่งจะเป็นการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเสริมซึ่งกันและกัน

“AMATA อยากจะขยายนิคมฯที่ชลบุรีทำเป็นสมาร์ทซิตี้ เขาก็ชวนเรา เราก็จะทำกับเขาแน่นอน ทุกอันที่เขาทำสมาร์ทซิตี้เขาจะให้บี.กริมทำ ทำร่วมกัน เราไปด้วยกัน ไอเดียที่เขาอยากทำเป็นพลังงานสะอาด ทั้งรูฟท็อป ทั้งก๊าซฯ ทั้งโซลาร์ และมีแบตเตอรี่ พวกนี้เป็น green ทั้งหมด ซึ่งเราเป็นตัวเลือกแรก ๆ”

นางปรียนาถ กล่าว

นางปรียนาถ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ปัจจุบันบริษัทดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น ไอคอนสยาม สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นต้น เบื้องต้นมีกำลังผลิตรวมประมาณ 30 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายที่จะผลักดันให้ถึง 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การติดตั้งในประเทศไทย ประมาณ 70 เมกะวัตต์ และในต่างประเทศ ประมาณ 30 เมกะวัตต์ โดยในต่างประเทศ ได้ติดตั้งในฟิลิปปินส์แล้ว 6 เมกะวัตต์ และโอมาน มีกรอบติดตั้งประมาณ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยติดตั้ง

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยได้ศึกษาศักยภาพของพื้นที่ที่จะจัดตั้งโรงไฟฟ้าและประสานความร่วมมือกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว เบื้องต้นเห็นศักยภาพของพื้นที่ที่น่าจะดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของภาครัฐ ประมาณ 6-7 แห่งสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล คาดว่ามีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 60 เมกะวัตต์ หรือ โรงละ 8 เมกะวัตต์ โดยมีพื้นที่เป้าหมายหลักในภาคกลางและภาคใต้ ขณะนี้รอเพียงความชัดเจนจากภาครัฐในการออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวต่อไป

นางปรียนาถ กล่าวอีกว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแตะระดับ 7,200 เมกะวัตต์ ในปี 68 จากที่มี 3,682 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) 3,058 เมกะวัตต์

สำหรับการผลักดันให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือแตะระดับ 7,200 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 75% มาจากเงินกู้โครงการ (project finance) โดยกำลังผลิตใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเวียดนามราว 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ และ 1,500 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ดำเนินการร่วมกับเอกชนเวียดนาม คาดว่าจะสรุปดีลได้ในไตรมาส 1/64

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมโอกาสการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3,000 เมกะวัตต์ หลังจากปี 62 ได้ลงนามความร่วมมือกับ Petrovietnam Power Corporation ศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโดยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิง รวมถึงโครงการการนำเข้าและจำหน่าย LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าในเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสพัฒนาโครงการพลังงานลมในเวียดนามอีกราว 100-200 เมกะวัตต์ เป็นโครงการ greenfield คาดว่าจะปิดดีลได้ภายในปีนี้ และคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพัฒนาโครงการ ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม คงจะไม่หาโครงการเพิ่มเติมแล้วจากปัจจุบันมีอยู่ 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 677 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว เนื่องจากปัจจุบันอัตรารับซื้อไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามอยู่ในระดับไม่สูงมาก

นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสลงทุนโครงการพลังงานลมในเกาหลีใต้ กำลังผลิต 130-150 เมกะวัตต์ คาดว่าจะปิดดีลได้เร็วๆนี้ รวมถึงยังมีดีลซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งเป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตแล้วในไทยและมาเลเซีย รวม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะปิดดีลได้ภายในปลายปีนี้

ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภท SPP Cogeneration จำนวน 7 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าหลังได้รับสัญญาซื้อขาย (PPA) แล้ว แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าหมดอายุ (Replacement) จำนวน 5 แห่ง และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 แห่ง โดยโรงใหม่มีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงละ 90 เมกะวัตต์ ขณะที่ SPP Replacement มีสัญญาขายไฟฟ้าให้กฟผ.โรงละ 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม

นางปรียนาถ กล่าวว่า ขณะที่แผนการนำเข้า LNG มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของบริษัทในไทยนั้น สามารถดำเนินการได้เลยหากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าของบริษัทมีการรับซื้อก๊าซฯส่วนเกินจากสัญญาซื้อก๊าซฯขั้นต่ำจาก ปตท.ราว. 3.5 แสนตัน/ปี โดยเชื่อว่าการนำเข้า LNG ได้เองจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้ในอนาคต

นางปรียนาถ กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตจากช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลจากต้นทุนก๊าซฯที่ลดลงมาก โดยคาดจะมีราคาเฉลี่ยราว 227.53 บาท/ล้านบีทียู จากเฉลี่ยราว 264.4 บาท/ล้านบีทียูในช่วงครึ่งปีแรก โดยต้นทุนก๊าซฯที่ลดลงทุก 1 บาท/ล้านบีทียู จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นราว 15-16 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้การขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมก็ฟื้นตัวขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนพ.ค.63 รวมถึงมีลูกค้าใหม่เข้ามาเซ็นสัญญาเพิ่มเติมด้วย ตลอดจนยังมีโอกาสที่จะได้ดีล M&A เข้ามาซึ่งจะผลักดันให้สามารถรับรู้ผลการดำเนินงานได้ทันทีอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top