ผู้ว่า ธปท.เปิดใจก่อนพ้นตำแหน่ง แนะเตรียมรับมือโจทย์ใหญ่

ประสานนโยบายรัฐแก้ศก.

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ”ธนาคารกลางท่ามกลางความท้าทาย” ใน BOT พระสยาม Magazine ฉบับส่งท้ายตำแหน่งของผู้ว่าการ ธปท.ว่า ในการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ ธปท.ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจมีหลายเรื่องที่ยังไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ

ตัวอย่างเรื่องที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ การทำให้มีระบบนิเวศการเงินดิจิทัลในระบบการเงินไทย อย่างเช่นการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เมื่อก่อนประเทศไทยอาจจะยังตามหลังหลายประเทศ แต่วันนี้ เราเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีพัฒนาการด้าน e-Payment ที่ดีมาก จนหลายประเทศขอเรียนรู้และถอดบทเรียนจากเรา

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ได้พัฒนามากขึ้นคือ การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม (financial stability) จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับธนาคารพาณิชย์เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรง แต่เมื่อระบบการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้นและเชื่อมโยงกันสูงขึ้นมาก เวลาเกิดปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่งก็อาจลามไปทั้งระบบการเงินได้เร็วมาก การยกระดับการทำงานร่วมกันของผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธปท. กระทรวงการคลัง ผู้กำกับดูแลด้านตลาดทุน และผู้กำกับดูแลด้านประกันภัย ไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาฐานข้อมูล ทำให้เราสามารถออกมาตรการหลายอย่างได้อย่างเท่าทัน โดยเฉพาะมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

นายวิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีหลายเรื่องที่จะยิ่งท้าทายมากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องคิดว่าสิ่งที่ ธปท. เคยมองและทำงานในมุมเดิม โดยเฉพาะเรื่องการกำกับดูแลระบบการเงินและสถาบันการเงินอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น เราจึงต้องมองให้ไกลและมองให้รอบกว่าเดิม

เรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น คือการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินที่มีหลากหลายกลุ่มให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม เพราะในอดีตผู้บริโภครายเล็กไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน หรือพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนาน กลายเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคเกินพอดี เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค การบังคับขายประกันจนผู้บริโภคไม่อยากไปสาขาธนาคารพาณิชย์ การให้บริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของผู้ขายแต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ยกเครื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย เราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นและต้องทบทวนนโยบายอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาก เป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และพอเกิดวิกฤติโควิด 19 ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเพราะประชาชนขาดรายได้จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเพื่อมาเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีผลกับฐานการออมของประเทศในระยะยาว และการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แปลว่าเราจะต้องมีเงินออมไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น

แต่เรากลับเริ่มมาจากจุดที่เปราะบาง การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของการแข่งขันสำหรับสถาบันการเงินที่เร่งปล่อยสินเชื่อจนเกินพอดี พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่และค่านิยม “ของมันต้องมี” ที่ทำให้ไม่คำนึงถึงการวางแผนทางการเงินระยะยาว ไปจนถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำจนไม่สร้างแรงจูงใจให้คนออม หรือแม้แต่การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงินซึ่งเป็นทักษะสำคัญของชีวิต

“จะเห็นได้ว่า ธปท. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย แม้จะเป็นปัญหาในระยะยาว แต่ถ้าเราไม่เริ่มแก้ไขจริงจังตั้งแต่วันนี้ ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นและแก้ยากมากขึ้นด้วยเช่นกัน” ผู้ว่าการธปท. ระบุ

นายวิรไท กล่าวว่า เวลาที่พูดถึง “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลาง ไม่ได้หมายถึงการทำงานอย่างโดดเดี่ยว เราต้องพูดคุยกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เพื่อประสานนโยบายอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน ถูกบั่นทอนประสิทธิภาพและประสิทธิผลลง หากมีสิ่งที่ภาคการเมืองหรือรัฐบาลอยากให้เราทำ แต่เมื่อเห็นว่าจะสร้างผลเสียในระยะยาว เราก็ต้องยึดมั่นในหลักการของธนาคารกลางอย่างชัดเจนและต้องอธิบายได้ว่าไม่ควรทำเพราะอะไร

ฉะนั้น ธนาคารกลางกับรัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกันแต่ต้องรักษาระยะห่างให้เหมาะสมด้วย เพราะธนาคารกลางถูกออกแบบให้มีพันธกิจหลักด้านการรักษาเสถียรภาพซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ขณะที่รัฐบาลโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญกับเรื่องระยะสั้นตามระยะเวลาของการเลือกตั้ง เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วงเวลาสั้น ๆ ธนาคารกลางกับรัฐบาลจึงอาจเห็นต่างกันบ้างในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและการทำนโยบาย

ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาของธนาคารกลางทุกประเทศ เพราะธนาคารกลางเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องเตือนเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินพอดีหรือมีจุดเปราะบางเกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ถ้าเราเห็นสัญญาณไม่ดีก็ต้องแตะเบรกเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ

นายวิรไท กล่าวว่า คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่า “ธปท.” เป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้ว งานของ ธปท. เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความคาดหวังแตกต่างกัน การบริหารความคาดหวัง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะไม่มีทางที่การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของ ธปท. จะถูกใจทุกคน และไม่ควรเป็นเช่นนั้นด้วย เพราะว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด และไม่มีอะไรฟรี อีกทั้ง “เสถียรภาพ” เป็นเรื่องที่ต้องมองไปให้ไกล มองไปในระยะยาว แปลว่าต้องยอมเสียสละบางอย่างในช่วงระยะสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว

การบริหารความคาดหวังและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำนโยบายของ ธปท. จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นความท้าทายของธนาคารกลางต่อไปในอนาคต

“โจทย์ที่เราจะเผชิญในอนาคตจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น และเราก็ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของทุกคนได้ บางครั้งเราอาจจะต้องทำในสิ่งที่คนไม่พอใจหรืออาจขัดผลประโยชน์ แต่เราต้องทำให้เขาเห็นว่า สิ่งที่ ธปท. ตัดสินใจทำ ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในระยะยาว แม้คนบางกลุ่มอาจเสียผลประโยชน์ในระยะสั้น ๆ ถ้าคน ธปท. ช่วยกันสร้างบรรทัดฐานเช่นนี้ให้เกิดขึ้นได้ เราจะสามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว” ผู้ว่าธปท. ฝากทิ้งท้าย

ส่วนภายหลังจากหมดวาระผู้ว่าการ ธปท. แล้ว นายวิรไท กล่าวว่า ยังไม่ได้มีแผนอะไรที่ชัดเจน แต่เป็นคนที่ถ้าตัดสินใจจะทำอะไร ต้องทำเต็มที่ ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สมดุลในชีวิตบางอย่างอาจจะไม่ค่อยดีนัก เมื่อพ้นจากการทำหน้าที่ผู้ว่าการแล้ว จึงอยากใช้เวลาเพื่อปรับสมดุลด้านต่าง ๆ ของชีวิตให้ดีขึ้นกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจตัวเอง การให้เวลากับครอบครัว รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นหนักในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินและระบบการเงิน แต่ในโลกยังมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top