กทพ.เคาะแนวทางที่ 3 ใช้ออกแบบทางด่วนเชื่อม S1 ท่าเรือคลองเตย คาดสรุปผลศึกษาสิ้นปีนี้

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้น – ลงที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ว่า รูปแบบแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้น-ลงของโครงการที่นำมาพิจารณามี 3 แนวสายทาง และทางขึ้น-ลง 8 รูปแบบ

ซึ่งแนวสายทางที่ 3 เป็นแนวสายทางที่มีคะแนนรวมสูงสุดของทุกปัจจัยและมีความเหมาะสมในการพัฒนา เนื่องจากแนวสายทางและรูปแบบวิศวกรรมรองรับการจราจรในอนาคตได้ ค่าก่อสร้างไม่สูงมากนัก ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยและพื้นที่การเวนคืนต่ำที่สุดซึ่งการพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการ โดยช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนอาจณรงค์ และถนนโครงข่ายโดยรอบ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในอนาคต

สำหรับสายทางที่ 3 มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณประตูทางเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal 3 เลยทางแยกเข้าสำนักงานเขตคลองเตย (ทางพิเศษโครงการ : กม. 0+000) ทางพิเศษจะก่อสร้างเป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) อยู่ด้านบนและไปตามแนวถนนอาจณรงค์เมื่อผ่านบริเวณประตูทางเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ Terminal 1 และ 2 จะมีทางขึ้นสำหรับรถบรรทุกจาก Terminal 1 และ 2 เข้าใช้ทางพิเศษได้ แนวสายทางเมื่อถึง กม. 1+284 จะข้ามถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำและทางพิเศษจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ประกอบด้วย ขาทางเชื่อม (Ramp) ในทิศทางไปทางพิเศษบูรพาวิถี และขาทางเชื่อม (Ramp) ทิศทางไปทางพิเศษฉลองรัชได้ ระยะทางจากจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างโครงสร้างทางพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ชุมชนในพื้นที่ยังกังวลเรื่องผลกระทบต่อชีวิตและการต้องออกจากที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเดือนพ.ย.อีกครั้ง จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาในเดือน ธ.ค.2563 และคาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี ก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 มีวงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,600 ล้านบาท

เนื่องจากทางด่วนเชื่อมท่าเรือและ S1 เป็นอยู่ในพื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพ ซึ่ง กทท.กำลังศึกษาวางผังแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ โดยกทท.จะต้องนำข้อมูลการศึกษาทางด่วน รวมในแผนแม่บทและนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ(บอร์ด) กทท. ซึ่งในทางคู่ขนานช่วง 1-3 เดือนนี้กทพ.และกทท.จะหารือถึงรายละเอียดของความร่วมมือ รวมถึงสัดส่วนในการลงทุน และรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top