‘ศักดิ์สยาม’ โยนแนวคิดให้สัมปทานขนส่งระบบรางแก่เอกชน 99 ปี หวังจูงใจเข้าลงทุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด การประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบราง ว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง ให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ โดยการใช้ประโยชน์การขนส่งทางรางให้เพิ่มขึ้น

โดยได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ดำเนินการศึกษาการกำกับการใช้ประโยชน์รางและจัดทำกฏระเบียบ เพื่อรองรับการขนส่งทางรางเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์รางให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

โดยแนวทางหนึ่ง ซึ่งสามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งและการเดินทาง คือ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในประเทศและระหว่างประเทศอย่างสูงสุด

นายศักดิ์สยาม เห็นว่า เอกชนควรต้องลงทุนจัดหาขบวนรถ หัวลากดังนั้น ซึ่งอายุสัมปทาน 30 ปี อาจไม่จูงใจ วันนี้ต้องมองว่า หลายประเทศไปถึงไหนกันแล้ว มีการส่งเสริมเอกชนลงทุนอย่างไร สัมปทาน 99 ปี จะจูงใจเอกชนมากกว่า โดยรัฐต้องกำหนด เงื่อนไขการกำกับดูแลกำหนดค่าบริการชัดเจน สมเหตุสมผลที่ทำให้ประชาชน และรัฐได้ประโยชน์ ซึ่งหากมีเหตุผลอธิบายได้ว่าประเทศและประชาชนได้อะไรก็สามารถทำได้ เหมือนกรณีขยายอายุสัมปทานจาก 30 ปี เป็น 50 ปี ในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนกฎหมายหากมีข้อติดขัด สามารถแก้ไขได้

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 16.8 ล้านตัน สอดคล้องตามนโยบายการเพิ่มการขนส่งทางราง 30% ใน 3 ปีข้างหน้า รวมทั้งจัดทำมาตรการกฏหมาย และข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางรางระหว่างประเทศและประโยชน์ของการสนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นผู้ร่วมบริการเดินรถ เพื่อส่งเสริมให้เกิดใช้ระบบรางอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดการแข่งขันในการให้บริการที่จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป

สำหรับแนวทางการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมบริการเดินรถนั้น จะเป็นการให้ภาคเอกชนเลือกเวลาที่นอกเหนือจากการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาบริหารจัดการโดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง ส่วน รฟท.จะได้ค่าเช่าใช้ทางจากภาคเอกชนส่วนขั้นตอนแนวทางการให้เอกชนร่วมเดินรถ เริ่มจากภาคเอกชนผู้สนใจ สามารถยื่นข้อเสนอขอใช้ราง ต่อ รฟท. จากนั้น รฟท. จะพิจารณาความเหมาะสมของตารางการเดินรถ/แผนธุรกิจแล้ว จึงเปิดประมูล Time Slot ให้เข้าใช้ทาง หรือ ดำเนินการแบบไม่ใช้วิธีประมูลกับผู้ยื่นข้อเสนอ

ทั้งนี้ ขร. และ รฟท. จะร่วมกำหนดแนวทางหรือเส้นทางที่มีความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมในการเข้าใช้ทางที่มีภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ ทั้งการโดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ อีกทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ใช้ความสามารถและประสบการณ์ในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top