“ไพบูลย์” ยื่นญัตติด่วนให้รัฐสภาส่งศาลตีความฝ่ายค้านลงชื่อซ้ำแก้รัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อขอเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา256 (1)

นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 4 ฉบับ ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ย.63 พบว่ารายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านไปซ้ำกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งบรรจุร่างฯ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว จึงมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ว่า ส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละ 1 ฉบับหรือลงนามเสนอได้คราวละหลายฉบับ

ดังนั้น การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ฉบับไม่ถูกต้อง เนื่องจากเคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 ม.ค.63 จากกรณีที่มี ส.ส. 77 คน ส่งเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ซึ่งมีลายมือชื่อของ ส.ส.ผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน

นายไพบูลย์ จึงเห็นว่ากรณีการลงลายมือชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอ มีการลงลายมือชื่อซ้ำกันทุกฉบับ ดังนั้นจึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 และกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภาว่ามีญัตติมีหลักการซ้ำกันหรือไม่ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) จะให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ลงลายมือชื่อเสนอร่างได้คราวละฉบับ หรือลงลายมือชื่อเสนอได้หลายฉบับก็ได้ในคราวเดียวกัน

นอกจากนั้น ยังมีข้อโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมฝ่ายค้านฉบับแรก เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งมีผลร่างฯ ฉบับแรกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราในหมวด 3 ถึงบทเฉพาะกาล ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเดิมอีก 4 ฉบับ ให้แก้ไขมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 279 มาตรา 159 และมาตรา 272 จึงซ้ำกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรก

ข้อโต้แย้งอีกประการ หาก ส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละหลายฉบับ จะสร้างปัญหาให้การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งสมาชิกรัฐสภามีจำนวน 750 คน จะต้องใช้เวลาเรียกชื่อและลงคะแนนญัตติละหลายชั่วโมง ซึ่งหากออกเสียงลงคะแนนหลายญัตติอาจจะใช้เวลาทั้งวัน ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติด่วน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ประกอบข้อ 15 วรรคสอง ขอให้ประธานรัฐสภาโปรดพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นญัตติด่วน ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ดังที่กล่าวมาข้างต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top