- ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวปี 63
- มาตรการด้านภาษี: ขยายเวลายื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป 3 เดือน ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63
- มาตรการด้านภาษี: ผู้ประกอบการหักค่าใช้จ่ายจัดอบรมสัมมนาในประเทศได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง
- มาตรการด้านภาษี: โรงแรมสามารถหักค่าใช้จ่ายการปรับปรุง-ตกแต่งกิจการ ตลอดปี 63 ได้ 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง
- มาตรการด้านภาษี: ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบินในประเทศ จาก 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.20 บาท/ลิตร ถึงสิ้น ก.ย. 63
- มาตรการด้านการเงิน: ให้สถาบันการเงินของรัฐขยายเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ปี 2563 ประกอบด้วย มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี
โดยมาตรการด้านการเงิน เช่น ให้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงสถานประกอบการ, มาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
ส่วนมาตรการภาษี เช่น การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนมิ.ย.63, มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ และการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน จากเดิม 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.20 บาท/ลิตร เป็นการชั่วคราว เป็นต้น
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย มาตรการด้านภาษี และมาตรการด้านการเงิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. มาตรการด้านภาษี
1.1 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปี 2563 ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในเดือนมิถุนายนของปี 2563
1.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
1.3 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง
1.4 มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินฯ ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบินในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
2. มาตรการด้านการเงิน
สถาบันการเงินของรัฐมีการดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน และการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องและปรับปรุงสถานประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา รวมถึงเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบดัวกล่าว ดังนี้
2.1 มาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม ได้แก่
(1) ธนาคารออมสิน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา สูงสุดไม่เกิน 5 ปี
(2) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการ และต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี
(4) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรมผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
(5) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักที่ได้รับผลกระทบ
2.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน ของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 123,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี
กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการการเงินการคลังข้างต้นจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น สนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ซึ่งจะมีส่วนเป็นการ จูงใจนักท่องเที่ยวให้เกิดการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมถึงบรรเทาผลกระทบให้แก่อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย
“มาตรการลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยเงื่อนไขไม่ได้กำหนดให้สายการบินต้องลดราคาค่าโดยสาร แต่เชื่อว่าปัจจุบันการแข่งขันสูงในธุรกิจสายการบิน ทำให้ไม่สามารถขึ้นราคาค่าโดยสารได้ มีแต่จะลดค่าโดยสารแข่งกันมากกว่า โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่เคยพิจารณาอยู่เดิม จึงสามารถหยิบมาทำได้ก่อน แต่ถ้ากลุ่มผู้ประกอบการขนส่งอื่น เช่น รถทัวร์ ต้องการให้ช่วย กระทรวงการคลังก็พร้อมพิจารณาเรื่องภาษีในการเดินทางด้านอื่น ๆ ได้” นายลวรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ว่าการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แต่จากมาตรการรัฐที่ออกมารับมือ ก็มองว่าปัญหานี้จะไม่ยืดเยื้อ ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะออกนโยบายมาดูแลเศรษฐกิจ จากที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้วทั้งมาตรการดูแลเอสเอ็มอี กระตุ้นการลงทุน และล่าสุดมาตรการดูแลการท่องเที่ยว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 63)
Tags: ท่องเที่ยว, ธุรกิจท่องเที่ยว, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, มาตรการการคลัง, มาตรการการเงิน, มาตรการด้านภาษี