นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง (Secondary Bond) ในปี 64 เพิ่มเป็น 50%
จากปัจจุบันที่มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 46% ซึ่งธนาคารถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการสร้างตลาดซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมาอย่างต่อเนื่อง 5 ปี (ปี 59-63)
ทั้งนี้ ตลาดซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองถือว่ายังมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีกมาก จากความสนใจของนักลงทุนกลุ่มบุคคลที่เพิ่มมากขึ้น และมูลค่าการซื้อขายตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันที่สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท/วัน สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้น เป็นโอกาสที่จะเห็นการเติบโตของตลาดซื้อขายตราสารหนี้ไนตลาดรองที่มากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ทำให้ตลาดซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองในประเทศไทยมีข้อจำกัดในการเติบโตมาจากการมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่ยังสูงที่ 100,000 บาท/หน่วย ทำให้เข้าถึงนักลงทุนได้ในกลุ่มจำกัด ไม่สามารถขยายฐานไปสู่นักลงทุนรายย่อยได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการให้ความรู้และคำแนะนำการลงทุนซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองนั้นยังมีค่อนข้างน้อย และยังไม่มีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องภาษีของการซื้อขายตราสารหนี้เข้ามาสนับสนุน และช่วยดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้ในตอนนี้การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองยังไม่สามาถเติบโตได้มาก
ขณะที่ธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายฐานนักลงทุนบุคคลในตลาดซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองให้เข้าถึงนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดการซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ในตลาดแรกที่ธนาคารได้เริ่มให้บริการไปแล้วในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยจะนำระบบดังกล่าวมาพัฒนา เพื่อทำให้การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองสามารถซื้อได้ในหน่วยย่อยต่ำกว่า 100,000 บาท/หน่วย เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายย่อยให้มีโอกาสการลงทุนมากขึ้น และโยกนำเงินฝากธนาคารที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก มาไว้ที่ตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งระบบดังกล่าวคาดว่บจะเริ่มใช้ในช่วงกลางปี 64
สำหรับกลยุทธ์ของธนาคารในการผลักดันให้ลูกค้าหันมาสนใจลงทุนในตลาดซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมากขึ้น จะเน้นลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่
- ลูกค้ากลุ่มนิยมฝากเงิน ขยับมาลงทุนหุ้นกู้คุณภาพดี เรตติ้งระดับ investment grade
- ผู้ที่ชอบหุ้นกู้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยได้หุ้นกู้เต็มความต้องการ ก็จะคัดสรรหุ้นกู้ดีๆ ให้เลือกลงทุนทุกวัน
- ผู้ที่ถือครองหุ้นกู้อยู่แล้ว หรือมีอยู่เต็มมือ แต่มองเห็นหรือสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ตัวอื่น โดยตั้งเป้าเพิ่มบัญชีลูกค้าบุคคลที่ Active ในปี 64 เพิ่มเป็น 5,000 บัญชี จากปัจจุบันที่ธนาคารมีบัญชีลูกค้าบุคคลที่ Active อยู่ 2,000-3,000 บัญชี จากบัญชีลูกค้าบุคคลทั้งหมด 7,000 บัญชี
สถานการณ์ช่วงโควิด-19 เป็นอีกเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่าธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองที่ธนาคารเป็นผู้เล่นหลักที่สร้างตลาดนี้มาล่วงหน้านานกว่า 5 ปี มีความยืดหยุ่นพร้อมรับสภาวะตลาดการเงินช่วงนั้นที่เปราะบางและอ่อนไหว โดยสังเกตได้จากลูกค้าไม่ได้เงียบหาย ยังคงทำการซื้อขาย เพิ่มความระมัดระวังและคัดสรร เลือกลงทุนโดยเน้นคุณภาพ และ เลือกขายหุ้นกู้ที่รู้สึกไม่สบายใจออกไป
“หากจำกันได้ใครถือครองตราสารหนี้ที่ทำให้ไม่สบายใจคงนอนไม่หลับ การที่เข้าไปเอื้ออำนวยให้ตลาดเดินไปได้ ราคาจะดีบ้าง หรือ ยังไม่น่าพอใจบ้าง แต่ธนาคารยังสามารถส่งมอบความสบายใจให้นักลงทุนคลายกังวลและนอนหลับฝันดี สะท้อนภาพชัดว่า ซีไอเอ็มบี ไทย ได้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าแล้ว”
นายภูดินันท์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ย้อนไปปี 59 มูลค่าการซื้อขาย Secondary Bond เฉพาะลูกค้าบุคคล ยังมีอยู่เพียงราว 500-600 ล้านบาท/เดือน มาในปี 60 และ 61 ปริมาณธุรกรรมขยับขึ้นเป็น 1-1.2 พันล้านบาท/เดือน และในปี 62 เพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.5 พันล้านบาท/เดือน โดยในปี 63 ก็ขยับขึ้นมาที่ 2 พันล้านบาท/เดือน ถือว่าภายในเวลา 5 ปี การซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรองโตขึ้น 4 เท่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 63)
Tags: CIMBT, ThaiBMA, ตราสารหนี้, ธนาคาร, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, หุ้นกู้