ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพิ่มอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ต้องออกเพื่อให้การเป็นไปตามสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โดยให้การคุ้มครองงานภาพถ่ายตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพิ่มเติมข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการ และแก้ไขข้อยกเว้นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี อันจะเป็นการยกระดับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีดังนี้

1.กำหนดเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ผู้ให้บริการ” และ “ผู้ใช้บริการ” และแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “มาตรการทางเทคโนโลยี”

2.แก้ไขอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โดยให้ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายกลับไปใช้อายุความทั่วไป คือ กำหนดให้การคุ้มครองงานภาพถ่ายตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

3.กำหนดให้ลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุ 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

4.กำหนดประเภทของผู้ให้บริการโดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง (2) ผู้ให้บริการในการเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการชั่วคราว (3) ผู้ให้บริการในการรับฝากข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ (4) ผู้ให้บริการในการสืบค้นแหล่งที่ตั้งข้อมูลคอมพิวเตอร์

5.กำหนดให้ผู้ให้บริการที่จะได้รับยกเว้นความรับผิดสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากการให้บริการของตน ต้องเป็นผู้ให้บริการที่ได้ประกาศมาตรการยกเลิกการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซ้ำไว้อย่างชัดแจ้งและได้ปฏิบัติตามมาตรการนั้น ทั้งนี้ การยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

6.กำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางไม่ต้องรับผิดสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้ให้บริการเป็นสื่อกลางส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านกระบวนการทางเทคนิคที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มการส่งผ่านหรือเลือกผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น

7.กำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการในการเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการชั่วคราวไม่ต้องรับผิดสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้ให้บริการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยมิได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นไม่แทรกแซงการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานของผู้ใช้บริการ และมีระบบที่ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

8.กำหนดให้ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่ต้องรับผิดสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้ให้บริการไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ตนให้บริการ และได้นำข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือระงับการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว โดยไม่ชักช้าเมื่อได้รู้หรือได้รับแจ้งถึงการละเมิดนั้น

9.กำหนดให้ผู้ให้บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งข้อมูลคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ตไม่ต้องรับผิดสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้ให้บริการไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และได้นำแหล่งอ้างอิงหรือจุดเชื่อมต่อของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือระงับการเข้าถึงแหล่งอ้างอิงหรือจุดเชื่อมต่อของข้อมูลดังกล่าว โดยไม่ชักช้าเมื่อได้รู้หรือได้รับแจ้งถึงการละเมิดนั้น

10.กำหนดให้การให้บริการ ผลิต ขาย หรือแจกจ่าย ซึ่งบริการ ผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผลเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดสำหรับกรณีดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษ

11.กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top