สธ. เชื่อโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มยุติ ชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริง

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอความรุนแรงลดลง ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีการรายงานไว้ที่ 34 ล้านคนนั้นน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงที่น่าจะเกิน 100 ล้านคนมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว

ในส่วนของประเทศไทยเองน่าจะมียอดผู้ป่วยราย 6,000 ราย แต่ที่ผ่านมาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง, เริ่มปฏิบัติอย่างรวดเร็ว, การใช้ข้อมูลทางวิชาการนำการตัดสินใจ, การสื่อสารที่ดี และความร่วมมือจากประชาชน โดยความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรคทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในเมียนมาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้านชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งต้องดูแลเรื่องการลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว ดังนั้นเราต้องดูแลมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้นหากเกิดการระบาดระลอกสองก็จะไม่รุนแรง

“เราสามารถพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อเราหละหลวม เราประมาท แต่การระบาดระลอกใหม่ไม่จำเป็นต้องรุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรก การเตรียมความพร้อมอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ในอนาคต เพราะถึงแม้จะไม่มีเกิดการแพร่ระบาดแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เกิดผลกระทบต่อประเทศ โดยกระทรวงฯ ปรับแนวคิดในการปฏิบัติ ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเลยแต่ต้องมีมาตรการที่สามารถตรวจพบผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด ไม่เกิดการแพร่ระบาดในระดับวิกฤต ซึ่งจะสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคม และเศรษฐกิจ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้

“การตรวจเจอผู้ป่วยล่าช้าส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของการควบคุมโรค เช่น ผลตรวจล่าช้ากว่า 1 วันทำให้ประสิทธิผลเหลือเพียง 79.9% ผลตรวจล่าช้ากว่า 3 วันทำให้ประสิทธิผลเหลือเพียง 41.8% ผลตรวจล่าช้ากว่า 1 วันทำให้ประสิทธิผลเหลือเพียง 4.9%”

นพ.ธนรักษ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจผิดในหลายประเด็น เช่น การอนุญาตให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้นจะทำให้มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หากผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ไม่มีสถานการณ์แพร่ระบาด และเมื่อเดินทางมาถึงก็ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันให้ครบถ้วนก็ไม่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องการติดเชื้อซ้ำกับการตรวจเจอเชื้อซ้ำซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เหมือนกัน การตรวจเจอเชื้อซ้ำที่พบบ่อยคือสารพันธุกรรมในคอที่อยู่นานถึง 80-90 วัน ทำให้ตรวจเจอเชื้อค่อนข้างนาน แต่ไม่ได้เป็นเชื้อที่แพร่ระบาดไปยังคนอื่น ส่วนเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้เร็วและรุนแรงกว่าเดิมนั้นยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ต.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top