สธ.ชี้มาตรการดูแลตนเองจากโควิด-19 ช่วยลดผู้ป่วยทางเดินหายใจ-ทางเดินอาหาร

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ย้ำเตือนให้ประชาชนยังคงเข้มงวดกับการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตนเองจากโรคไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และการเว้นระยะห่าง เนื่องจากแนวปฏิบัติดังกล่าว นอกจากจะช่วยในการป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังพบว่าช่วยลดสถิติการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหารในปีนี้ให้ลดน้อยลงจากปีก่อนได้มาก

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในช่วงเดือนม.ค. – ก.ย.62 มีจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่ ถึง 3.04 แสนคน และมีผู้เสียชีวิต 40 คน มีจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง ถึง 8.83 แสนคน แต่มาในช่วงม.ค. – ก.ย.63 อัตราการเกิดโรคดังกล่าวลดน้อยลงไปค่อนข้างมาก โดยมีจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ 1.1 แสนคน เสียชีวิต 4 คน และมีจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร 6.2 แสนคน ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ที่ดีจากการที่ประชาชนปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตนเองจากไวรัสโควิด-19

“จากข้อมูลพบว่า ปีนี้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ลดลงไปจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 30% ขณะที่ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร ก็ลดลงไปค่อนข้างมาก ต้องขอชื่นชมคนไทยที่ยังดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ และการกินร้อน ช้อนกลาง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันเฉพาะโรคโควิดเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารลงได้มาก”

นพ.วรตม์กล่าว

โฆษกกรมสุขภาพจิต ยังกล่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเมียนมาว่า ผู้ป่วยรายใหม่ของเมียนมามีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดเมียนมามีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันแล้วถึง 17,794 ราย เสียชีวิตแล้ว 412 ราย โดยย่างกุ้งเป็นรัฐที่พบผู้ป่วยมากสุดถึง 12,692 ราย และเสียชีวิต 267 ราย แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ การระบาดในรัฐที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยถึง 10 จังหวัด คือ รัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง, รัฐฉาน, รัฐกะยา และเขตตะนาวศรี

“ในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง เขตตะนาวศรี รัฐฉาน และรัฐกะยา เราอยากให้มีการเฝ้าระวังให้มากขึ้น เพราะมีแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยโดยไม่ได้รับการตรวจอย่างถูกต้อง ซึ่งน่ากังวลว่าจะนำมาสู่การแพร่ระบาดในไทยมากขึ้น” นพ.วรตม์กล่าว

พร้อมย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทั้งประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยในส่วนของประชาชนให้ช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่ หากพบผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที ขณะที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านค้าให้ระงับการนำเข้าแรงงานจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และหันมาจ้างแรงงานในประเทศแทน เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในประเทศระลอกสอง อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 ต.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top