กกร.ปรับเป้าส่งออกปีนี้หดตัวลดลงเป็น -10% ถึง -8% หลัง Q3/63 ดีกว่าคาด

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการส่งออกในปี 2563 หดตัวในกรอบ -10.0% ถึง -8.0% ดีขึ้นจากเดิมที่คาด -12.0% ถึง -10.0% เนื่องจากการส่งออกในไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ภายหลังการคลายล็อกดาวน์ทั่วโลก ซึ่งสินค้ากลุ่มอาหารและสุขอนามัยที่เป็นที่ต้องการมีการขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่าปกติอยู่มาก เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงานที่ยังไม่ลดลง

สำหรับในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย. กดดันการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย และหลายแห่งในเอเชีย ซึ่งหากลุกลามไปมากจะกระทบธุรกิจการส่งออกของไทย รวมถึงความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะต่อไป แม้ว่าจะไม่กระทบกับการเปิดรับแบบเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะเริ่มขึ้นก็ตาม ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างทยอยหมดอายุลง

ขณะที่ กกร.ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% และอัตราเงินเฟ้อคงเดิมที่ -1.5% ถึง -1.0%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ของกกร.

%YOYปี 2562ปี 2563 (ณ ก.ย.63)ปี 2563 (ณ ต.ค.63)
GDP2.4-9.0 ถึง -7.0%-9.0 ถึง -7.0%
ส่งออก-2.7-12.0 ถึง-10.0%-10.0 ถึง -8.0%
เงินเฟ้อ0.7-1.5 ถึง -1.0%-1.5 ถึง -1.0%

โดยกกร. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ร่วมกันจัดทำข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ โดยนำประเด็นดังกล่าวหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในประเด็นที่สำคัญต่างๆ อาทิ ด้านการค้า การลงทุน, การจ้างงาน, SME, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งจะเป็นข้อเสนอที่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

นอกจากนี้ กกร.ยังได้เสนอให้มีการต่ออายุมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการชะลอการคืนเงินกู้ โดยขอให้ครอบคลุมตามความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละประเภท, การขอยืดมาตรการค่าน้ำ ค่าไฟ (รวมถึง minimum change), การลดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน และเร่งรัด soft loan ของสายการบิน

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังเชื่อว่า การที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เข้ามาทำหน้าที่ รมว.คลังคนใหม่จะสามารถขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจให้เกิดความต่อเนื่องไปได้ เพราะเคยเป็นเลขาฯ สภาพัฒน์ และอดีต รมต.มาแล้ว จึงน่าจะมีความเข้าใจปัญหาของภาคเอกชน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะจัดทำโครงการชิมช้อปใช้นั้นก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังต้องรอดูรายละเอียดว่าจะมีวิธีการอย่างไร

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากภาคเอกชนได้มีการหารือกันถึงแนวทางเร่งรัดการชำระหนี้ให้กับเอสเอ็มอีไม่ให้เกิน 30 วัน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องนั้น กกร.เห็นว่าในส่วนของหน่วยงานราชการเองก็น่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ โดยขอให้มีการเร่งเบิกจ่ายโดยเร็วหลังตรวจรับงานแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top