ศาลปกครองสูงสุด ให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลการไต่สวนคดีจัดซื้อคอมพิวเตอร์ สธ.

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขเฉพาะบางรายการให้แก่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย

โดยให้เปิดเผยเฉพาะรายการที่ 1 สำเนาการสอบสวนข้อเท็จจริง รายการที่ 2 สรุปข้อเท็จจริง รายการที่ 3 ผลการพิจารณาและรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และรายการที่ 5 คำสั่งและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยอาจใช้ดุลพินิจปกปิดชื่อบุคคลและข้อความที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

“พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คำวินิจฉัยที่ สค 48/2558 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2558 เฉพาะรายการที่ 1 รายการที่ 2 รายการที่ 3 และรายการที่ 5 โดยอาจใช้ดุลพินิจปกปิดชื่อบุคคลและข้อความที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ ให้ยก”

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุ

ส่วนรายการที่ 4 ถ้อยคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอบสวนคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยนั้น ศาลเห็นชอบด้วย เพราะการเปิดเผยถ้อยคำพยานบุคคลย่อมทำให้พยานเกิดความไม่เชื่อมั่น และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของพยานผู้มาให้ถ้อยคำได้

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารในรายการที่ 1 รายการที่ 2 รายการที่ 3 และรายการที่ 5 เป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลและแจ้งผลให้ผู้อุทธรณ์ทราบแล้ว และคุณหญิงสุดารัตน์ฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในข้อมูลข่าวสาร ย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารนั้น เพื่อใช้ปกป้องส่วนได้เสียของตน

อีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความถูกต้องและโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ตามมาตรา 15 (2) แห่งพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top