SORKON ปรับแพกเกจจิ้งเจาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน,หันเข้าตลาดอาหารพร้อมทาน

นายจรัสภล รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (RTE-QSR) บมจ. ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ (SORKON) เปิดเผยว่า บริษัทปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ครั้งใหญ่ ด้วยการออกแบบผ่านการเสนอความเป็นสินค้าไทยโดยใช้สัญลักษณ์ (Iconic) “ส.” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลโก้เดิมมาใช้เป็นอัตลักษณ์สร้างความแตกต่างและภาพจำของแบรนด์ ประกอบกับนำภาพสินค้าพื้นเมืองไทยแบบดั้งเดิมมานำเสนอให้สวยงามมีคุณค่าและดูร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นไทย

นอกจากจะดึงดูดสายตาผู้บริโภคแล้ว บริษัทยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าหลายรายการให้สามารถรักษาคุณภาพสินค้า คงความสดใหม่ได้นานขึ้น และสามารถรับประทานได้สะดวกขึ้นเข้ากับวิถีการใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคปัจจุบัน

“เป้าหมายของการรีดีไซน์แพคเกจจิ้งครั้งนี้เพื่อมุ่งขยายฐานกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียลหรือกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพการจับจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

นายจรัสภล กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมวางงบการตลาดไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทปรับโฉมแพคเก็จจิ้งใหม่ให้ทันสมัย สะดุดตา และวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงทำกิจกรรมส่งเสริมการขายการตลาด ล่าสุด เตรียมจัดกิจกรรมดี๊ดี ‘ลุ้นทองติดบ้าน กับ ส. ขอนแก่น’ เมื่อซื้อสินค้าภายใต้แบรนด์ ส. ขอนแก่น, ออง-เทร่, หมูดี, หมูแชมป์, บ้านไผ่, ห้วยแก้ว, เศรษฐี หรือแบรนด์ในเครือ ส.ขอนแก่น ชนิดใดก็ได้ที่ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการลุ้นรางวัลรวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท จำนวน 601 รางวัล อาทิ รางวัลใหญ่สุด ทองคำแท่ง 10 บาท, ทองคำแท่ง 1 สลึง, Gift Voucher มูลค่า 1,000 บาท และ Gift Set ส. ขอนแก่น ร่วมสนุกง่าย ๆ เพียงซื้อสินค้าครบทุก ๆ 99 บาท ได้รับสิทธิ์ร่วมชิงโชค 1 สิทธิ์ เพียงส่งมาที่ LINE Official Account : @s.khonkaenth ลงทะเบียนพร้อมแนบรูปถ่ายใบเสร็จ โดยมีระยะเวลาร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 63 – 31 ม.ค. 64

นายจรัสภล กล่าวว่า ขณะที่ภาพรวมตลาดอาหารพื้นเมืองในปีนี้จะทรงตัว หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ผู้ประกอบการหลายบริษัทจึงทยอยปรับกลยุทธ์เข้าสู่ตลาดอาหารพร้อมทานมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตสูง ซึ่ง ส. ขอนแก่น ได้ปรับตัวเข้าสู่ตลาดอาหารพร้อมรับประทานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมงานคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค นอกจากนี้ได้บริหารจัดการต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพทางโภชนาการและวิถีชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top