สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจชี้ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญยังหาทางออกวิกฤตการเมืองไม่ได้

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายแบบไม่ลงมติ เพื่อรับฟังความเห็นและช่วยกันหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองในขณะนี้ เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยประชาชน 41.94% คิดว่าเป็นเพียงการยื้อเวลาของรัฐบาล ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง รองลงมา 39.00% คิดว่านายกรัฐมนตรียังไม่ลาออก ตามด้วย 32.32% คิดว่าเป็นเกมทางการเมือง, 31.93% คิดว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง และอีก 28.49% คิดว่า ส.ส.และ ส.ว.ต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

โดยผลบวกที่เกิดจากการอภิปรายครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 57.20% คิดว่าทำให้ได้เห็นท่าทีของแต่ละฝ่ายชัดเจนมากขึ้น รองลงมา 43.93% คิดว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้อภิปราย/แสดงความคิดเห็น และอีก 36.52% คิดว่าแสดงให้เห็นถึงท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ส่วนผลลบนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 53.18% คิดว่าเสียเวลา/สิ้นเปลืองงบประมาณ รองลงมา 53.08% คิดว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร/ไม่มีอะไรดีขึ้น และอีก 45.73% คิดว่าแต่ละฝ่ายมีธงของตนเอง/ไม่ยอมกัน

หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายในการประชุมสภาสมัยวิสามัญแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ 54.40% คิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังเหมือนเดิม รองลงมา 34.78% คิดว่าความขัดแย้งมากขึ้น แต่อีก 10.82% คิดว่าความขัดแย้งน้อยลง

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 51.69% คิดว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้จะทำให้การเมืองไทยหลังจากนี้เหมือนเดิม รองลงมา 35.36% คิดว่าแย่ลง และมีเพียง 12.95% คิดว่าดีขึ้น

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล กล่าวว่า อุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ ท่าทีของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของบ้านเมือง การตัดสินใจเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญของนายกรัฐมนตรีเป็นก้าวแรกของการแสดงออกให้เห็นถึงความต้องการในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ประชาชนมองว่าเป็นเพียงการยื้อเวลาของรัฐบาลเท่านั้น แต่ก็ทำให้ได้เห็นความชัดเจนของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมากขึ้น หากรัฐบาลยังคงมีท่าทีเช่นนี้สถานการณ์บ้านเมืองก็น่าจะคงมีความขัดแย้งกันต่อไป

ด้านนายรุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง กล่าวว่า ความล้มเหลวของการประชุมครั้งนี้มีอยู่ 3 ปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าระบบรัฐสภาของไทยยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ปัจจัยแรกก็คือ การตั้งหัวข้อในการอภิปรายของการประชุม พบว่าการตั้งหัวข้อนั้นมีเจตนาอย่างชัดเจนที่จะทำให้เกิดการถกเถียงว่าใครเป็นฝ่ายผิดต่อวิกฤตการเมืองในครั้งนี้ ปัจจัยที่สองคือ การคัดสรรผู้อภิปรายของฝ่ายรัฐบาลที่คัดสรรนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมาเป็นผู้อภิปราย ปัจจัยที่สามเห็นว่าความล้มเหลวเกิดจากทัศนคติของนักการเมืองในสภาซึ่งรวมถึงสมาชิกวุฒิสภาที่ต่างมองเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม กล่าวได้ว่ารัฐสภาไทยเป็นองค์กรที่ไร้ประโยชน์และมิใช่เป็นองค์กรที่พึ่งพิงของประชาชนไทยยามเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง ดังนั้นการแสวงหาทางออกทางการเมืองของไทยจึงเป็นหนทางที่คับแคบและคงจะต้องมีการเผชิญหน้าเพื่อหาข้อสรุปทางการเมืองอย่างรุนแรงในอนาคต

ทั้งนี้ สวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่สนใจติดตามการอภิปรายดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 1,035 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2563

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top