CIMBT มองปี 64 ผลงานฟื้นจากขยายฐานลูกค้า-ลดต้นทุน หลังปีนี้สินเชื่อหดตัว

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลงานปี 64 จะกลับมาฟื้นตัว หลังจากผลการดำเนินงานน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 63 ไปแล้ว

ขณะที่ปีหน้าธนาคารจะหันมาผลักดันสิ่งที่ได้ลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตามแผน Fast Forward ให้มีผลตอบแทนงอกเงย และขยายฐานลูกค้ารายย่อยและรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารมองเห็นถึงศักยภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อและผลิตภัณฑ์บริการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้บริการด้านตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของธนาคารที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังเน้นการผลักดันการบริการต่าง ๆ ของธนาคารมาสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการทำธุรกรรมผ่านโมบายล์แอปพลิเคชันอยู่ที่ 145,700 ราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ไช้งานประจำอยู่ 115,000 ราย ทำให้ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งธนาคารตั้งเป้าลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงเหลือ 50% ภายในปี 67 จากปัจจุบันที่ 63.2% ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด

ด้านการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ จะเน้นจับกลุ่มสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของลูกค้าธนาคารและลูกค้าบริษัทในเครือของธนาคาร โดยเน้นเป็นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ที่ถือว่ายังเป็นโอกาสของธนาคารในการผลักดันสินเชื่อให้เติบโตขึ้นได้ โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยกว่า 50% หรือกว่า 1 แสนล้านบาท จากพอร์ตรวม 2.3 แสนล้านบาท และสินเชื่อรายใหญ่ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ จากโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ ของลูกค้า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชะลอการลงทุน และไม่มีการเบิกใช้สินเชื่อ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้นคาดว่าจะเริ่มเห็นลูกค้ารายใหญ่ทยอยกลับมาลงทุน ซึ่งธนาคารตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ในปี 64 เป็น 40% จากปัจจุบัน 30% หรือมูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท ของพอร์ตสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ธนาคารยังคงเพิ่มการให้บริการด้านตลาดเงินและตลาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคารในการให้บริการในเรื่องดังกล่าว โดยจะนำบริการด้านตลาดเงินและตลาดทุนมาให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการให้บริการแก่ลูกค้า และช่วยสร้างรายได้ ซึ่งในปี 64 ธนาคารจะเปิดให้บริการด้านตลาดรองมากขึ้น ได้แก่ บริการตลาดรองเกี่ยวกับการซื้อขายตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยน และบริการรับฝากสินทรัพย์ จากปัจจุบันให้บริการเฉพาะขายตราสารหนี้ไนตลาดแรก

“เราตั้งเป้าว่าหลังปี 2020 จะเป็นปีที่ผลงานของธนาคารจะกลับมาดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเราคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่ผลงานของธนาคารผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนและความท้าทายจากโควิด-19 ที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่มากระทบบ้าง แต่ถือว่าธนาคารมีความพร้อมที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ผลักดันผลงานของธนาคารให้ฟื้นขึ้นตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป สร้างสิ่งที่ธนาคารลงทุนให้มีผลตอบแทนงอกเงยออกมา”

นายสุธีร์ กล่าว

นายสุธีร์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของสินเชื่อของธนาคารในปี 63 คาดว่าจะติดลบ 5% หรือ 0% หลังจาก 9 เดือนแรกปีนี้สินเชื่อของธนาคารติดลบ 5.2% เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังการให้สินเชื่อ ประกอบกับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ธนาคารได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อไปแล้วชะลอการเบิกใช้รวมกว่าหลายแสนล้านบาท แต่หากในช่วงที่เหลือของปีนี้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่กลับมาลงทุนและเริ่มทยอยเบิกใช้สินเชื่อไปบ้าง ก็คาดว่าจะช่วยหนุนให้สินเชื่อไนช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้พลิกกลับมาเป็นบวกหรือติดลบเล็กน้อยได้

ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 5.9% ซึ่งธนาคารจะลดระดับ NPL ในสิ้นปีนี้ให้เหลือราว 5% ส่วนหนึ่งมาจากการเตรียมขายหนี้ออกไปในเร็ว ๆ นี้ มูลค่า 3 พันล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของลูกค้าที่เข้าโครงการมาตรการพักชำระหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติแล้ว 70-80% ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่ดีไห้กับคุณภาพหนี้ของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามการตั้งสำรองฯของธนาคารยังคงจะต้องตั้งในระดับสูง เพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยง และเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร แม้ว่าปัจจุบันเงินกองทุนของธนาคารจะอยู่ไนระดับที่สูงถึง 20% แต่อย่างไรก็ตามธนาคารมองว่าจะไม่มีการตั้งสำรองฯพิเศษเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้จะไม่มีปัจจัยอื่น ๆเข้ามากดดันผลการดำเนินงานเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับวิสัยทัศน์ของกลุ่มซีไอเอ็มบี ที่ประกาศจะเป็น “the Leading Focused ASEAN Bank” เพื่อ “ส่งมอบผลตอบแทนทางการเงินที่ยั่งยืน” ธนาคารจึงได้วางแผนกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของกลุ่มซีไอเอ็มบี โดยวางโรดแมพที่จะก้าวไปสู่การเป็น ‘DIGITAL-LED BANK WITH ASEAN REACH’ คือ ธนาคารอาเซียนชั้นนำในไทย ใช้ดิจิทัลสร้างความต่าง พร้อมเดินหน้าแข่งขันเต็มตัวในสนามธุรกิจที่ธนาคารถนัดและมีจุดแข็ง ควบคู่ไปกับการใช้ต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแผนและเป้าหมายจะนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารพิจารณาอีกครั้ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 พ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top