ไทย ลงนามสัญญากู้เงิน ADB 1.5 พันล้านเหรียญ เยียวยาผลกระทบโควิด-19

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และ Mr. Hideaki Iwasaki ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program วงเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 45,000 ล้านบาทว่า

การกู้เงินดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. โควิด-19) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ADB ได้จัดเตรียมมาตรการทางการเงิน วงเงินรวม 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขเงินกู้แบบผ่อนปรน ซึ่งสามารถนำไปสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่รัฐบาลของกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการใช้เครื่องมือในการระดมทุนหลากหลายชนิด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำสัญญากู้เงิน และตั๋วเงินคลัง จากตลาดเงินในประเทศเพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินแผนงาน/โครงการ ภายใต้ พ.ร.ก. โควิด-19 ทั้ง 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการฯ และแผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ

โดยกระทรวงการคลังมีภารกิจในการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ โดยการกู้เงินให้สอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อรักษาความยั่งยืนของฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับสภาวะตลาด (Market Base) และป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับภาคเอกชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินโดยรวมของประเทศ ดังนั้นการกู้เงินจาก ADB ในครั้งนี้จึงถือเป็นการกระจายแหล่งเงินกู้เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ได้กู้แค่ภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะหากรัฐบาลกู้ภายในประเทศทั้งหมดจะมีผลกระทบกับภาคเอกชน

รมว.คลัง กล่าวว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ยังเพียงพอสำหรับใช้ในการช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจ รวมถึงเพื่อฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ ยังมีวงเงินเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม

ขณะที่ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ภาพรวมการกู้เงินตาม พ.ร.ก. โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้มีการกู้เงินไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท โดยการใช้เงินจะทยอยเบิกจ่ายตามความต้องการ และโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุมัติ

สำหรับโครงการคนละครึ่งที่ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และเตรียมที่จะดำเนินโครงการในระยะที่ 2 นั้น ความต้องการใช้เงินในส่วนนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สบน. จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าความเร็วของการใช้เงินในโครงการคนละครึ่งทั้งหมดมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้เตรียมวงเงินรองรับไว้

“โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 นี้ยังใช้วงเงินดำเนินการจากเงินกู้เดิมที่ได้กู้ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากมีเฟส 2 ซึ่งขณะนี้โครงการได้รับความนิยมมาก นั่นหมายความว่าการใช้เงินก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องมานั่งคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าความต้องการใช้เงินจะเร็วแค่ไหน เพื่อ สบน.จะได้เตรียมเงินใส่ถังไว้ให้ ซึ่ง สบน.มีตารางการกู้เงินอยู่แล้ว โดยการกู้จะทยอยกู้ไม่ได้กู้เป็นก้อนใหญ่มากองไว้”

นางแพตริเซีย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top