รัฐสภา กำหนดกรอบอภิปรายร่างแก้ไข รธน.14 ชม.ก่อนลงมติแบบขานชื่อพรุ่งนี้

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงกรอบเวลาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาว่า วันนี้ (17 พ.ย.) จะใช้เวลาในการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ 13-14 ชั่วโมง คาดจะเสร็จสิ้นการพิจารณารวมลงมติในเย็นของวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) สำหรับการลงมติจะใช้วิธีขานชื่อแบบเปิดเผยไล่ไปทีละคน คาดใช้เวลาในการลงมติประมาณ 4 ชั่วโมง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงการประชุมรัฐสภาวันนี้ (17 พ.ย.) ว่า ไม่ลำบากใจในการทำหน้าที่ยืนยันว่า ผู้ชุมนุมมีสิทธิเรียกร้อง แต่ต้องไม่ปฎิบัติหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่คุกคามการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยในสภา เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องดูแลความปลอดภัยความเรียบร้อย ส่วนพื้นที่รอบนอกเป็นหน้าที่ของตำรวจ

นายชวน ตอบข้อซักถามถึงหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ iLaw ถูกตีตกไป จะเป็นการจุดชนวนทางการเมืองให้ร้อนแรงกว่าเดิมหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่ส่วนตัวเชื่อว่า การประชุมของรัฐสภาจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ส่วนกรณีที่กลุ่มไทยภักดีจะไปยื่นหนังสือต่ออัยการหากร่างของ iLaw ผ่านมติของสภานั้น ขอให้เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภายในสภา ไม่ขอพูดเรื่องนอกสภา

ด้านนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คาดว่าการอภิปรายจะใช้เวลาไม่มาก เนื่องจากมองว่ารายงานที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จมี 2 ประเด็นหลักสำคัญเท่านั้น คือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ 2.จะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ iLaw ที่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะลงมติอย่างไร เพราะต้องฟังเหตุผลของผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

โดยประเด็นที่ต้องชี้แจงต่อรัฐสภา ประกอบด้วย 1.ร่างของ iLaw ไม่มีบทบัญญัติห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 ซึ่งต้องชี้แจงว่ามีเจตนาอย่างไร 2.ในส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. และแยกประเด็นไปถึง 10 ประเด็น จะเกิดความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ 3.การยกเลิกกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ 4. มีข้อห่วงใยในข้อบังคับข้อ 124 มีบทบัญญัติชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมวาระที่ 2 ว่า หากรับหลักการมาแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้ขัดกับขั้นรับหลักการได้ ซึ่งผู้เสนอร่างต้องตอบให้ได้ถึงหลักการนี้ 5.ร่างของ iLaw มีบางส่วนเข้าเงื่อนไขมาตรา 256 ที่อาจจะมีความซ้ำซ้อนกันเรื่องการทำประชามติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top