ศบศ.ผ่านมาตรการกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ-สั่งคลังทำ “คนละครึ่ง” เฟส 2

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประน ได้เห็นชอบตามการเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในมาตรการส่งเสริมการจัดแพ็จเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Amazing Thailand Plus Special Package) ประกอบด้วย 2 มาตรการ

  1. แพ็คเกจตั๋วเครื่องบินพร้อมห้องพัก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บมจ.การบินไทย กับสมาคมโรงแรมไทย โดยจะเป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระยะเวลาการกักตัวเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
  2. เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนอื่นๆ ในประเทศไทย ผ่านการเป็นสมาชิกบัตรอีลิทการ์ด แบบ Flex Plus ของชาวต่างประเทศ โดยต้องเป็นโดยเป็นสมาชิกที่มีมูลค่าบัตรมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป และอายุบัตรตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องลงทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นสมาชิก โดยสามารถลงทุนใน 3 รูปแบบ คือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตามสิทธิที่ต่างชาติพึงได้รับ, ลงทุนในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งหุ้นสามัญ หรือหุ้นกู้ เป็นต้น

“เมื่อมีการลงทุนครบ และมีหลักฐาน สามารถยื่นขอ work permit ในไทยได้…กรณีนี้ เราขอหลักการว่าประเภทวีซ่า PE ที่เป็นวีซ่านักท่องเที่ยว ถ้ามีการลงทุน 1 ล้านเหรียญ ภายใน 1 ปี และคงหลักฐานการลงทุนในไทย 5 ปี สามารถยื่นขอ work permit ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี่คือหลักการที่ ศบศ.อนุมัติเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่มีคุณภาพ”

ผู้ว่าการ ททท.ระบุ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบศ. ยังได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจัดสัมมนาของภาครัฐในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้ โดยเสนอให้ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดอบรมฝึกอบรมและสัมมนาในจังหวัดที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน ภายในปีงบประมาณ 2564 โดยให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และให้ทุกส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อรวบรวมและรายงานต่อ ศบศ.ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว ชุดที่ 2 ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ประกอบด้วยโครงการที่ควรได้รับการส่งเสริมแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด อาทิ โครงการรถแลกแจกแถม (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน) โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ และโครงการจัดหารรถโดยสารเพื่อประชาชนของ ขสมก. โดยการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า เป็นต้น

2.การส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาทิ การกระตุ้นตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศอย่างเร่งด่วน การพัฒนามาตรฐานและการรับรองคุณภาพระดับสากลเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม

3.การส่งเสริมการจ้างงาน อาทิ การเสริมสร้างการจ้างงานในภูมิลำเนา โครงการบริบาลชุมชนระดับหมู่บ้าน และการส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตประชารัฐ เป็นต้น

4.การสนับสนุนการเดินทางเข้ามาประเทศไทยของชาวต่างชาติ อาทิ การผ่อนปรนกฎเกณฑ์การขอสินเชื่อของชาวต่างชาติ การเพิ่มจำนวนสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) และการจัดตั้งสถานที่กักกันแรงงานต่างด้าวใน 11 จังหวัด เป็นต้น

5.การบริหารจัดการภาครัฐด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การจัดทำข้อมูลด้านทรัพยากรการเงินของประเทศ และการรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือรายละเอียดมาตรการ/โครงการ แหล่งเงิน และแนวทางการเร่งรัดขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมต่อไป

ส่วนมาตรการคนละครึ่งนั้น นายดนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ศบศ. เห็นว่าสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้ในวงกว้าง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคลังไปพิจารณาว่าจะทำเฟส 2 ในลักษณะใด เช่น จะสามารถขยายเวลา หรือปรับปรุงมาตรการให้ครอบคลุมมากขึ้นอย่างไร และนำกลับมาเสนอ ที่ประชุมศบศ.อีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค.

โดยล่าสุด พบว่ามาตรการ “คนละครึ่ง” มีร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 7.1 แสนร้าน มีประชาชนลงทะเบียน 9.28 ล้านคน และยังเหลือสิทธิอีก 7.2 แสนสิทธิ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.) เพื่อให้ครบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top