ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ ธปท.เสริมมาตรการดูแลเงินบาท สร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าตลาดเงินตลาดทุนของไทยตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากแนวโน้มความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงในตลาดการเงินโลก ซึ่งล่าสุด มีการกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ภายหลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ้นสุดลง และมีความหวังมากขึ้นต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19

โดยหากนับระหว่างวันที่ 1-19 พ.ย.63 พบว่า มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรรวมกันเป็นจำนวน 6.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน ขณะที่เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 30.14 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 30.30 บาท/ดอลลาร์ ในปัจจุบันสถานการณ์เงินบาทดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวล เพราะการแข็งค่าของเงินบาทในเวลานี้อาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยในรอบนี้มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างกลไกในระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่

1.การคลายเกณฑ์สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) สำหรับคนไทย

2.การขยายวงเงินและประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ และ

3.การกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อ-ขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน ซึ่งเปิดรับเงินทุนเคลื่อนย้าย และนักลงทุนสามารถซื้อ-ขายตราสารหนี้ได้อย่างเสรีแต่ต้องมีการระบุตัวตนที่ชัดเจน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการดูแลค่าเงินบาทของธปท. เน้นเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายขาเข้า-ขาออก เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่ในฝั่งเงินดอลลาร์ฯ เองก็ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ มาตรการในส่วนที่เป็นการปรับเกณฑ์ของ FCD และการผ่อนคลายข้อกำหนดการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยนั้น มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินทุนขาออก ซึ่งอาจชะลอ-ลดแรงกดดันด้านแข็งค่าของค่าเงินบาท

ขณะที่การกำหนดให้มีการมีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อ-ขายตราสารหนี้ นับเป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยให้เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่การเริ่มทำธุรกรรมซื้อ-ขายตราสารหนี้ เมื่อเทียบกับเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้มีการส่งรายงานชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners: UBO) ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (NR) ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง และ/หรือผู้ที่มีอำนาจทั้งในทางตรงและทางอ้อมในการตัดสินใจทำธุรกรรมเพื่อถือครองหรือลงทุนในตราสารหนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย (เพื่อเพิ่มแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ ชะลอเงินบาทแข็ง) เนื่องจากการกระจายพอร์ตการลงทุนยังขึ้นอยู่กับจังหวะและสภาพตลาดต่างประเทศ ผลตอบแทนเปรียบเทียบเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับกรณีนักลงทุนรายย่อย ขณะที่การกำหนดเกณฑ์ยืนยันตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้ อาจช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วง แต่ไม่ใช่มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า

นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะโน้มอ่อนค่าลงเพิ่มเติมในช่วงปีข้างหน้า ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และสัญญาณการยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าผ่านระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ฯ ในปี 2564 (โดยธนาคารกสิกรไทยประเมิน ค่าเงินบาทที่ระดับ 29.00-29.25 บาท/ดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2564) ดังนั้น ธปท. อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น และประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆ ไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top