กรมชลฯ เตรียมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ 27 พ.ย.-6 ธ.ค.

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักในช่วงวันที่ 27 พ.ย. ไปจนถึงวันที่ 6 ธ.ค.63 จึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำฝน และน้ำท่าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำ จากฝนตกหนัก และน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (23 พ.ย.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 48,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 24,763 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,658 ล้าน ลบ.ม หรือ 51% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,962 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 1,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 12% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 333 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 8% ของแผนฯ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรที่บางส่วนทำนาปีได้ล่าช้า โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทาน จะให้ความช่วยเหลือด้วยการบริหารจัดการน้ำท่าให้เพียงพอจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และการขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top