AOT อ่วมพิษไวรัสโควิด-19 ผู้โดยสารวูบ 30% คาดงวดปี 63 ลดลง 8-10%

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวยอมรับว่า บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ไวรัสโควิด-19) โดยทั้ง 6 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ,ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่ , เชียงราย และ หาดใหญ่ มีจำนวนผู้โดยสารลดลงไป 25-30% ในช่วงนี้

จากเดิมที่มีวันละ 4.5-4.6 แสนคน/วัน มาที่ประมาณ 3 แสนคน/วัน เนื่องจากผู้โดยสารจากจีนมีสัดส่วนสูงถึง 26% สูงกว่าผู้โดยสารไทยมีสัดส่วน 18%

ทั้งนี้ยอดผู้โดยสารสะสม ตั้งแต่ช่วง 1 ต.ค.62 -15 ก.พ. 63 ติดลบ 1.6% แม้ในช่วง 1 ต.ค.62- 23 ม.ค.63 จะมียอดเติบโต 2.9% จากฐานที่ใหญ่ในปีก่อน แต่หลังจากมีการแพร่ระบาดหนักทำให้ยอดเฉลี่ยสะสมถึง 12 ก.พ.63 ไม่มีการเติบโต จนมาถึงขณะนี้ติดลบแล้ว และในเดือน มี.ค.ก็ไม่มีความหวังว่าจะดีขึ้น

นายนิตินัย คาดว่าในงวดปี 63 (1 ต.ค.62- 30 ก.ย.63) จำนวนผู้โดยสารจะลดลง 8-10% ในกรณี Best Case เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 น่าจะคลี่คลายในเดือน เม.ย.นี้ และช่วงครึ่งปีหลังซึ่งอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีผู้โดยสารฟื้นขึ้นมาบ้าง และหวังว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ในปลายปี 63

“ผลกระทบมาก ไม่เคยเจอมาก่อน รอบนี้กระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวในช่วง 5-8 ปีนี้เปลี่ยนแปลงไป คนจีนเข้ามาในไทยเยอะมาก และมียอด spending สูง คุณภาพนักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายสูง Domestic ที่โตไม่ใช่มาจากคนไทย ส่วนใหญ่มาจาก Inter เข้ามาต่อ Domestic เป็นโดมิโน Inter ดับ Domestic ก็ดับ”

นายนิตินัย อธิบายกับอินโฟเควสท์

นอกจากนี้ ผลกระทบการท่องเที่ยวรอบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ทางการจีนสั่งระงับไม่ให้กลุ่มทัวร์จากจีนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งกรณีนี้เป็นเหตุผลให้สถานการณ์ครั้งนี้รุนแรงกว่าการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะรอบนี้เป็นลักษณะ Global Panic ที่ทั่วโลกก็รับผลกระทบ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อ AOT เพราะงวดปี 63 โดยช่วงไฮซีซั่น ต.ค.-มี.ค.เป็นช่วงที่มีผลประกอบการที่ดี แต่เมื่อช่วงไฮซีซั่นปีนี้รับผลกระทบดังกล่าวจะกระทบผลประกอบการโดยรวมอย่างแน่นอน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ประเมินว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 น่าจะคลี่คลายภายใน 3 เดือน หรือภายในเดือน เม.ย.นี้ แต่ก็มองว่า 1 เม.ย.นี้ผู้โดยสารอาจจะยังไม่กลับมาในทันที เพราะสายการบินต้องวางแผนเรื่องตารางการบินล่วงหน้า 1 เดือนเป็นอย่างน้อยที่มีการยกเลิกในเดือน ก.พ.ปีนี้มีผลต่อ slot ในเดือนก.พ.ปีถัดไป

ดังนั้น บริษัทคาดว่าผลประกอบการใช้เวลากลับมาฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปีเนื่องจากสถานการณ์วันนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจวางแผนตารางการบิน (slot) ในปี 64 หรือ 2 ฤดูกาลทั้ง Summer และ Winter

นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทได้ปรับตัวทางธุรกิจที่ให้สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบินก่อนทำการบิน 1 เดือนจะให้โบนัสคืนจากการเก็บค่า PSC ของรายใหม่ ที่มีผล 5 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมาโอกาสที่รายใหม่จะเข้ามาทำการบินแทนก็น้อย ขณะเดียวกันนำเสนอคณะกรรมการบริษัทวันนี้ (19 ก.พ.)เกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือร้านค้าปลีกในสนามบิน ที่มีหลายรายขอผ่อนผันการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ และบางรายขอเลิกกิจการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 63)

Tags: , ,
Back to Top