นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปี 63 จะมียอดโอน 2.2 หมื่นล้านบาท
โดยจะมีการโอนคอนโดมิเนียม 7 โครงการที่เพิ่งสร้างเสร็จ จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ทั้งหมดที่มีอยู่ราว 3.1 หมื่น ซึ่งจะรองรับการสร้างรายได้ในในระยะ 3 ปีข้างหน้า ขณะที่กระแสเงินสดของบริษัทก็ยังคงมีความแข็งแกร่งมากกว่า 1.48 หมื่นล้านบาท
ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีการทยอยโอน Backlog เข้ามา 1.2 หมื่นล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมดที่มี 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะโอนโครงการคอนโดมิเนียม 7 โครงการ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป ซึ่งมียอดขายแล้ว 50-60% ได้แก่ 1. โครงการ IDEO Q VICTORY 2.โครงการ Elio Del Nest 3.โครงการ ASHTON Asoke-Rama 9 4.โครงการ Ideo Q Sukhumvit 36 5.โครงการ Ideo Mobi Sukhumvit Eastpoint 6.โครงการ IDEO Ratchada-Sutthisan และ 7.โครงการ Elio Sathorn-Wutthakat
บริษัทมีแผนการเปิดตัวโครงการ ไอดีโอ พหล-สะพานควาย อยู่ติดกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานควาย บนที่ดินกว่า 5 ไร่ มีจำนวนห้องพักอาศัยทั้งหมด 1,356 ยูนิต มูลค่าโครงการ 8.5 พันล้านบาท ซึ่งปรับรูปแบบโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและสภาวะตลาด นอกจากนี้บริษัทยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับอีก 7 โครงการใหม่ที่สามารถนำเสนอให้กับลูกค้าได้ตลอดเวลาในกรณีที่สถานการณ์ตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น
บริษัทมีแผนขยายแหล่งรายได้ใหม่และสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักด้วยการลงทุนในโครงการมิกซ์ยูสครั้งแรกร่วมกับพันธมิตรอย่างกลุ่ม บีทีเอส บนที่ดินกว่า 200 ไร่ บริเวณหน้าโครงการ ธนาซิตี้ ติดถนนบางนา – ตราด โดยตั้งเป้าให้เป็น Smart City และ Technology & Innovation Hub เพื่อพลิกโฉมวงการที่อยู่อาศัยให้สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง สำหรับกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี (DTC) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและพัฒนาร่วมกัน
“ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่ท้าทาย เพราะสถานการณ์เปลี่ยนยิ่งทำให้ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ภายใต้แนวคิด “Change The Plan Never The Goal” ยึดมั่นในเป้าหมาย ยืดหยุ่นในวิธีการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและความต้องการของลูกค้า ซึ่งอนันดาฯ ยังคงให้ความสำคัญและเชื่อมั่นในกลยุทธ์การพัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่บริษัท ริเริ่มเป็นเจ้าแรกและดำเนินการมาโดยตลอด
การขยายเครือข่ายของรถไฟฟ้าเป็น 221 สถานี ในอีก 5 ปีข้างหน้าส่งผลให้ผู้นำการพัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าอย่างอนันดาฯ ได้รับผลดีจากการขยายตัวนี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังคงเจตนารมณ์ในการสร้างเมืองที่ดีพร้อมช่วยแก้ไขปัญหาให้กับคนเมืองเพื่อชีวิตที่ดีและลงตัวดังปรัชญา Urban Living Solutions ที่บริษัทยึดมั่นมาโดยตลอดพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่ม Gen C”นายชานนท์ กล่าว
นายชานนท์ เปิดเผยว่า ยอดขายในปีนี้บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 2.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในปีนี้บริษัทมีการเปิดโครงการใหม่เพียง 1 โครงการเท่านั้น ซึ่งโครงการ IDEO พหลฯ-สะพานควาย วางเป้ายอดขายไว้ที่ 3.4 พันล้านบาท ซึ่งจะเปิดขายในช่วงเดือนพ.ค. 63 และส่วนที่เหลือจะเน้นขายโครงการในสต็อกเพื่อสร้างรายได้กลับมา โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายระบายสต็อก 1.2 หมื่นล้านบาท จากสต็อกทั้งหมดที่มีอยู่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมเป็นหลัก
ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายรายได้ประจำ (Recurting Income) ในปี 63 ไว้ที่ 300 ล้านบาท จากการเปิดให้บริการโครงการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง คือ โครงการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ Somerset พระราม 9 และ โครงการ Lyf สุขุมวิท 8 ซึ่งเปิดให้บริการไปแล้วในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมวางเป้าหมายรายได้ประจำในปี 64 และ 65 มาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท และ 1.8 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยที่ในปี 64 จะมีโครงการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ Ascott ทองหล่อ และ Ascott Embassy สาทร เปิดให้บริการ ส่วนในปี 65 จะมีโครงการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ Somerset พัทยา เปิดให้บริการ
นายชานนท์ กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจเปิดโครงการใหม่ในปีนี้เพียง 1 โครงการ เนื่องจากภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังชะลอตัว ประกอบกับปัจจัยกดดันต่างๆ เข้ามากดดันภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในต่างประเทศ ทำให้การดำเนินธุรกิจในปีนี้จะต้องมีความระมัดระวัง และควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยเลือกเปิดคอนโดมิเนียมที่เป็นประเภทสินค้าที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และชะลอการลงทุนในประเภทสินค้าที่บริษัทไม่มีความถนัด โดยเฉพาะโครงการแนวราบ
ซึ่งในปีนี้ไม่มีการเปิดโครงการใหม่ แต่ทยอยพัฒนาและขายโครงการที่เปิดไปแล้วเพื่อระบายสต็อก ควบคู่ไปกับการระบายสต็อกคอนโดมิเนียม เพื่อสร้างรายได้กลับมาให้กับบริษัท และทำให้การบริหารต้นทุนของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านเงินลงทุนในปีนี้วางงบลงทุนไว้ที่ 3 พันล้านบาท ไว้สำหรับการซื้อที่ดิน และรองรับการลงทุนร่วมกับพันธมิตร เช่น การพัฒนาโครงการร่วมกับบมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ในการพัฒนาโครงการธนาซิตี้ บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการ ซึ่งบริษัทจะมีส่วนร่วมในการช่วยออกแบบและบริหารโครงการ โดยจะเริ่มลงทุนภายในปีนี้ ส่วนการร่วมกับ บมจ.ดุสิตธานี จำกัด (DTC) ในการลงทุนโครงการมิกซ์ยูส ที่พัทยา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะเริ่มเปิดให้บริการภายในปี 65
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมในปีนี้วงเงิน 6 พันล้านบาท ซึ่งจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุในช่วงไตรมาส 2/63 และไตรมาส 4/63 ชุดละ 3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 63)
Tags: ANAN, หุ้นไทย, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, อสังหาริมทรัพย์