“วินเนอร์ยี่ เมดิคอล” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 120 ล้านหุ้น เข้า mai สร้างห้องปฏิบัติการ

บมจ. วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WMED) ยื่นแบบแสดงรายการและหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฉบับแรก เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น และจะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

WMED ประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายชุดตรวจเพื่อการวิเคราะห์ วินิจฉัยและ/หรือบำบัดรักษา รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการเก็บรักษาโลหิตและผลิตภัณฑ์ของโลหิต เพื่อการวิเคราะห์ วินิจฉัยและ/หรือบำบัดรักษาโรค ซึ่งได้นำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำในต่างประเทศ อีกทั้ง เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้านพันธุศาสตร์จากต่างประเทศ สำหรับการให้บริการตรวจสารพันธุกรรมและความผิดปกติของทารกในครรภ์

และ บริษัทย่อยประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านสุขภาพและสุขอนามัย อาทิ เครื่องดักจับยุงและแมลงดูดเลือด เครื่องบำบัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ และชุดกำจัด/จัดการสารเคมีและชีวภาพหกปนเปื้อน นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าลงทุนในบริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด (Pro-Lab) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ ให้บริการรับวินัจฉัย/ตรวจ และวิเคราะห์โรคเฉพาะทางหรือโรคติดต่อ

ทั้งนี้ แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

  1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรี (WOMEN HEALTH CARE) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อมะเร็งปากมดลูก และ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชศาสตร์มารดาและทารก, ผลิตภัณฑ์ธนาคารโลหิต (BLOOD BANKING) ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการแยกส่วนประกอบของโลหิต และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานธนาคารโลหิต, ผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยของโลหิต (BLOOD SAFETY) สำหรับการหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคต่างๆ (Nucleic Acid Testing : NAT) และสำหรับการยับยั้งเชื้อจุลชีพ(Pathogen Inactivation) ในโลหิตของผู้บริจาคโลหิต และ ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเซลล์บำบัด (CELL THERAPY) : บริการด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการสมัยใหม่ ด้านการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells)
  2. กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ เกิดจากการสรรหาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ อาทิ เครื่องตรวจติดตามสัญญาณชีพอัตโนมัติแบบไม่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย, ผลิตภัณฑ์กำจัดพาหะเชื้อ อาทิ เครื่องดักจับยุงและแมลงดูดเลือดอื่นๆ (จำหน่ายในนาม AND) และ ผลิตภัณฑ์ควบคุมการติดเชื้อ ช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค อาทิ เครื่องบำบัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ และชุดกำจัด/จัดการสารเคมีและสารชีวภาพหกปนเปื้อน จำหน่ายในนาม AND

WMED มีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนผ่านเสนอขายหุ้น IPO เพื่อลงทุนก่อสร้างห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมด้านงาน การเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด (Cell Therapy) , ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

โครงการของบริษัทในการสร้างห้องปฏิบัติการสำหรับการเตรียมเซลล์ที่ได้มาตรฐาน โดยมีแผนซื้อเครื่องคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์ในระบบปิดแบบอัตโนมัติ (CliniMACS Prodigy System) และก่อสร้างห้องปฏิบัติการ โดยจะใช้งบประมาณลงทุนทั้งสิ้น ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเปิดให้บริการกับโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป บริษัทคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 4/64 และเริ่มให้บริการได้ในปี 65

สำหรับโครงการลงทุนก่อสร้างห้องปฏิบัติการครอบคลุมด้านงานเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษาด้วยการทำเซลล์บำบัด (Cell Therapy) ซึ่งหลักการรักษาของ Cell Therapy คือการซ่อมแซมเซลล์ด้วยชีวะโมเลกุล (Xenogenic Peptide) ด้วยเครื่องคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์ในระบบปิดแบบอัตโนมัติ (CliniMACS Prodigy System) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของ Miltenyi Biotec ประเทศเยอรมัน น้ำยาต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นน้ำยาที่ผ่านมาตรฐานการรับรองใช้ในร่างกายมนุษย์ (Clinical Grade)

นอกจากนี้ เครื่องคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์จะสามารถคัดแยกเซลล์ต้นกำเนิดที่จำเพาะ (Stem Cell Selection) การเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวน (Cell Culture) ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว เครื่องคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์ในระบบปิดแบบอัตโนมัติ (CliniMACS Prodigy System) ยังสามารถเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์ให้กับแพทย์เพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบต่าง ๆ โดยแพทย์จะฉีดผลิตภัณฑ์เซลล์ดังกล่าวกลับคืนสู่ร่างกายผู้ป่วยให้ไปสร้างแอนติบอดีต่อต้านและทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีรักษาโดยใช้หลักการภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ปัจจุบันมีการใช้วิธีการนี้ใช้รักษาทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น นานกว่า 5 ปี สำหรับในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ต้นปี 63 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลการรักษา

ณ วันที่ 22 ก.ย.63 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 200,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 400,000,000 หุ้น เป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 140,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 280,000,000 หุ้น ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวน

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท วินเนอร์ยี่ เทรดดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 182,785,820 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 65.28% หลังจากเสนอขายหุ้น IPO แล้วจะลดสัดส่วนลงเหลือ 45.70%, Dara Investment Limited ถือหุ้น 54,598,320 หุ้น คิดเป็น 19.50% จะลดสัดส่วนลงเหลือ 13.65%, นางสาวจิณหธาน์ ปัญญาศร ถือหุ้น 38,954,860 หุ้น คิดเป็น 13.91% จะลดสัดส่วนหุ้นเป็น 9.74%

สำหรับผลประกอบการในช่วงปี 60-62 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานเท่ากับ 453.41 ล้านบาท 514.16 ล้านบาท และ 492.38 ล้านบาทตามลำดับ มาจากรายได้หลักคือ รายได้จากการขายและบริการ และรายได้ค่าเช่า ขณะที่มีรายได้อื่น 5.48 ล้านบาท 1.80 ล้านบาท 2.62 ล้านบาท และ 0.29 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิ เท่ากับ 12.33 ล้านบาท 40.96 ล้านบาท และ 37.19 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 2.72%, 7.97% และ 7.55%

ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของงปี 63 บริษัทมีรายได้ 390.66 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 30.39 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 7.79% เทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้ 342.41 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.14 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.77% ณ วันที่ 30 ก.ย.63 บริษัทสินทรัพย์รวม 504.06 ล้านบาท หนี้สิน 323.23 ล้านบาท และ ส่วนผู้ถือหุ้น 108.83 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิที่เหลือจากการหักเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและบริษัทกำหนดไว้ โดยพิจารณาจากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top