AAV พลิกโฉมอาศัยจุดแข็งหารายได้เพิ่มหลากหลายหลังธุรกิจการบินไม่เหมือนเดิม

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า การท่องเที่ยวและการเดินทางในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนหลังจากผ่านสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แอร์เอเชียเองจำเป็นต้องปรับตัวและมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยนำจุดแข็งที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดธุรกิจใหม่

จึงเป็นที่มาของการพลิกโฉมครั้งใหญ่ ในการพัฒนาให้ airasia.com ให้เป็นแพลตฟอร์มที่มากกว่าการให้บริการจองตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด แต่ต้อง “For Everyone” หรือตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ด้วยสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้แค่เรื่องธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

“วันนี้คู่แข่งของเราจะไม่ใช่เฉพาะสายการบินเท่านั้น เราเชื่อมั่นว่าจะเติบโตในการก้าวสู่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ อีคอมเมิร์ช ฟินเทค การค้าปลีกออนไลน์ยุคใหม่ได้ โดยให้ airasia.com เป็นแพลตฟอร์มทางเลือกแรกๆ ที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน คิดถึงความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเรื่องการบินหรือไลฟ์ไตล์ต้องเข้ามาที่ airasia.com ก่อน”

นายสันติสุข กล่าว

สำหรับจุดแข็งของ airasia.com ที่โดดเด่นคือการที่เรามีเครื่องบินของตัวเอง ทำให้สามารถกำหนดราคา ควบคุม และทำแพ็คเกจนำเสนอลูกค้าได้ในราคาที่คุ้มค่าที่สุด รวมถึงลูกค้าที่เป็นสมาชิก BIG ยังสามารถนำ BIG point ที่มีอยู่มาใช้เป็นส่วนลดต่างๆ ในการซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ได้ จึงเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาจองตั๋วและเลือกซื้อสินค้าและบริการกับ airasia.com

ปัจจุบัน airasia.com ได้เปิดตัวบริการใหม่ๆ ในประเทศแล้วอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก “SNAP” ที่เป็นการผนวกรวมของ “ตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พัก” ในราคาคุ้มค่า พร้อมโปรโมชั่นที่มีตลอดทั้งปี “Hotel” บริการจองเฉพาะโรงแรมที่พักในราคาประหยัด “FlyBeyond” ไม่ว่าจะบินไปไหนในโลกกับสายการบินอะไรก็จองตั๋วในราคาประหยัดได้ “Activity” กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เช่น บัตรเข้าสวนสนุก และ “Unlimited Deal” ดีลสุดคุ้มหลากหลาย ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ เช่น สปา ทำเล็บ ช้อปปิ้ง

นายสันติสุข กล่าวว่า เห็นชัดว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ในการชิงส่วนแบ่งตลาดจากแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ โดย airasia.com มองว่าตลาดนี้ยังเติบโตได้อีกมาก และคุ้มค่าในการลงทุน ถือเป็นการสร้างเสถียรภาพที่ดีให้กับธุรกิจในอนาคต และเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่แสวงหาความตื่นตาตื่นใจใหม่ๆ เพราะเมื่อแอร์เอเชียเลือกที่จะเข้ามาในธุรกิจ เราก็ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งใหม่เสมอ

ทั้งนี้ จากผลตอบรับที่ผ่านมาหลังเริ่มปรับโฉม airasia.com เราเห็นเทรนด์ที่น่าสนใจ เช่น SNAP ที่ขายตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก ตั้งแต่เปิดตัวในไตรมาส 3 ก็เติบโตต่อเนื่องมากกว่า 100% โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้ยังคงให้บริการได้เฉพาะเส้นทางภายในประเทศ แต่ SNAP มียอดผู้ทำรายการ(transaction) สูงเพิ่มขึ้นถึง 176%เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ AirAsiago.com (แพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วและโรงแรม แยกจาก AirAsia.com) เคยทำได้

นอกจากนี้ airasia.com ยังต่อยอดการมีฐานลูกค้าและกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่ง โดยการสร้างพันธมิตรใหม่ๆมาจำหน่ายสินค้า บริการ และดีลพิเศษคุ้มค่า ซึ่งมั่นใจว่า airasia.com จะสร้างโอกาสให้กับบริษัท และตอบโจทย์เทรนด์ลูกค้าในอนาคตได้อ

นายสันติสุข ตั้งเป้าหมายว่าในปี 64 และอย่างน้อยต่อไปอีก 3 ปี แอร์เอเชียจะเดินหน้ารุกในการพัฒนาแพลตฟอร์ม airasia.com เต็มที่ โดยเฉพาะการเพิ่มสินค้าและบริการใหม่ เช่น ธุรกิจด้านบริการ สุขภาพ การแพทย์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจด้านเกษตร สินค้าบริการชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งธุรกิจด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ โดยใช้จุดแข็งของเครือข่ายสายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย

และเมื่อเริ่มเปิดให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศได้ในอนาคต จะยิ่งเห็นการเติบโตด้านการขนส่งโลจิสติกส์และคาร์โก้ โดยเฉพาะการให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่แอร์เอเชียขยายเครือข่ายเพิ่มเข้าไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.63 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้จำนวนมากต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทเห็นโอกาสธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) จากที่ขยายฐานบินไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตทำการขนส่ง Cargo กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยขอใช้เครื่องบินที่ขนส่งผู้โดยสาร มาถอดที่นั่งเพื่อขนส่งสินค้าได้ทั้งลำ ซึ่งปัจจุบันมีขนส่ง Cargo จากสุวรรณภูมิไปฮ่องกงสัปดาห์ละ 5 วัน และสิงคโปร์ เชนได ย่างกุ้ง ส่วนที่สนามบินดอนเมืองให้บริการส่งสินค้าไปยังมัลดีฟส์และโคลัมโบ

รวมทั้งเพิ่มการบริการผ่าน airasia.com ที่เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ที่มีการจองตั๋วโดยสาร ที่พัก ซึ่งได้จับมือพันธมิตร โรงแรมทุกแห่งอาทิ เชอราตัน ไอบิส เครือไมเนอร์ เอราวัณ เป็นต้น โดยธุรกิจนี้แม้จะเริ่มวางแผนก่อนโควิด แต่เมื่อมีโควิดกลับเร่งตัวให้เกิดขึ้นได้เร็วทั้งนี้ธุรกิจดังกล่าวในไทยได้เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และคาดว่าในปีหน้าจะเริ่มมีสัดส่วน5-10%ซึ่งทางกลุ่มแอร์เอเชียตั้งเป้าจะมีรายได้จาก airasia.com สัดส่วน 50% ใน 5 ปีนี้ (ปี 64-68)

นายสันติสข กล่าวว่า ธุรกิจหลักของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ลดลงเหลือเพียง 40% ของรายได้ในปี 62 ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 63 จะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (load factor)เฉลี่ย 75% จำนวนผู้โดยสาร 9.3 ล้านคน ลดลงอย่างมากจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 22.15 ล้านคน และ load factor เฉลี่ย 85% โดยในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท และมีผลขาดทุน 3.6 พันล้านบาท

ขณะที่ load factor ในไตรมาส 2/63 ลดเหลือในระดับกว่า 50% จากนั้นในไตรมาส 3/63 ฟื้นขึ้นมาที่ 65% และในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะกลับมาในระดับกว่า 80% โดยเส้นทางเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน มี load factor สูงถึง 90% และปัจจุบันใช้เครื่องบิน 40-42 ลำจากทั้งหมด 62 ลำ จึงคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 4/63 น่าจะดีกว่าไตรมาส 3/63 จากราคาตั๋วสูงขึ้น 10-20% จากเฉลี่ย 996 บาท/ตั๋วในไตรมาส 3/63

นายสันติสุข มองว่าสถานการณ์การบินในประเทศเริ่มกลับมามาเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด คือในเดือน ม.ค. 63 ซึ่งทุกสายการบินมีจำนวนที่นั่งรวมกัน 4 ล้านที่นั่ง โดยในเดือน ธ.ค.63 ฟื้นกลับมาเป็น 3.9-4 ล้านที่นั่งแล้ว แต่สำหรับตลาดต่างประเทศยังไม่สามารถทำการบินได้ คงต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรนให้มีการเดินทางต่างประเทศมากขึ้น โดยที่ผ่านมาก็มีการเสนอท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble หรืออาจจะต้องรอให้มีวัคซีนออกมาใช้ก่อน

“เรามองว่าปีหน้าไม่เหมือนเดิม และปีถัดไปเราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ว่าใครจะยืนอยู่ได้มากกว่า. ทำอย่างไรให้ดีมานด์จากการท่องเที่ยวกลับมาให้เร็วที่สุด อย่างน้อยเราจะยืนเป็นคนสุดท้าย เป็น Lastman Standing”

นายสันติสุข กล่าว

นายสันติสุข กล่าวว่า ปัญหาการขาดทุนยังมีความสำคัญเป็นรองการมีกระแสเงินสด (Cashflow) ในมือ ฉะนั้นธุรกิจการบินก็ต้องบริหารจัดการให้ดี ดังนั้น ในปีนี้เรื่องกำไรขาดทุนคงต้องปล่อยไป และคิดว่านักลงทุนน่าจะเข้าใจสถานการณ์ เพราะหลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติเราต้องอยู่ให้ได้จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มสายการบินในประเทศ 7 แห่งได้ขอปรับตัวเลขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปลดลงมาเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมขอไป 2.4 หมื่นล้านบาท โดยเสนอไปยังนายอาคม เติมพิยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อให้บรรดาสายการบินสามารถรักษาสภาพการจ้างงานไว้ได้ จากก่อนหน้าอาจจะใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจด้วย แต่หลังจากสถานการณ์การบินในประเทศดีขึ้นทำให้ยังพอมีเม็ดเงินหมุนเวียนในการดำเนินงาน แต่พยายามคงการจ้างงานเพื่อเตรียมพร้อมรับการกลับมาเปิดการบินอีกครั้ง

ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชียมีพนักงานทั้งหมด 7,000 คน ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ 900-1,000 คน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top