ยอดส่งออกรถยนต์ ม.ค.63 ลดลง 19.96% อยู่ที่ 6.5 หมื่นคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนม.ค.63 ว่า ส่งออกได้ 65,295 คัน คิดเป็น 76.69% ของยอดการผลิตเพื่อส่งออก โดยลดลง 19.96% จากเดือนม.ค.62

ทั้งนี้ การส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ยกเว้นตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าการส่งออก 32,271.37 ล้านบาท ลดลง 20.94% จากม.ค.62

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ อยู่ที่ 71,688 คัน ลดลง 8.2% จากม.ค.62 เนื่องจากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.63 มีทั้งสิ้น 156,266 คัน ลดลง 12.99% จากม.ค.62 แต่เพิ่มขึ้น 16.44% จากธ.ค.62 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 85,143 คัน และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 71,123 คัน

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีการประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทยของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (GM) ว่า เป็นเพียงยุทธศาสตร์ทางการตลาดที่ค่าย GM วางแผนมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ว่าจะลดจำนวนพนักงานทั่วโลก 14,000 คน ซึ่งปี 2562 ก็ลดจำนวนพนักงานในไทยลงไปแล้ว 300 คน

รวมทั้งวางแผนหยุดการผลิตและจำหน่ายรถบางรุ่นบางประเภทในไทย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยมองว่า GM น่าจะมุ่งเน้นการทำตลาดที่มียอดขายเติบโตและเน้นทำตลาดรถพวงมาลัยซ้ายตามที่ตัวเองถนัด

“เป็นเรื่องของแผนธุรกิจของแต่ละบริษัท ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ ไม่เกี่ยวกับว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม โดยส.อ.ท.ยังคงเป้าการผลิตปีนี้ที่ 2 ล้านคัน ผลิตเพื่อส่งออกและขายในประเทศอย่างละ 1 ล้านคัน”

นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อถึงกรณีที่เชฟโรเลตดัมพ์ราคาลงมาและสร้างปรากฎการณ์การขายถล่มทลายขายหมดภายในวันเดียวนั้น มองว่าเรื่องการส่งเสริมการขายแบบนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละยี่ห้อ และเป็นมาแล้วหลายปี แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ปั่นป่วน

ส่วนกรณีที่ไม่มีสถาบันการเงินรับจัดไฟแนนซ์ให้ลูกค้าเพราะค่ายรถยนต์จะเลิก กลัวลูกค้าที่ซื้อรถไปจะทิ้งรถ ไม่ผ่อน ไม่มีคนดูแลราคากลาง แต่ลูกค้ายังยอมจ่ายเงินสดแสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อในประเทศยังดีอยู่ แต่ก็ห่วงว่าหากอนาคตรถที่ลูกค้าซื้อไปอาจจะมีปัญหาเรื่องการบริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อม อะไหล่หายาก อาจจะมีการขายทอดตลาดรถในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณจากค่ายรถค่ายอื่นว่าจะมีนโยบายแบบค่าย GM

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า กรณีของเชฟโรเลตเหมือนกับรถยนต์หลายค่ายที่หายไป เช่น แลนเซีย โอเปิล แต่ก็มีรถยนต์ค่ายใหม่ๆ บางค่ายก็มีรุ่นรถมากขึ้น อยู่ที่เทคโนโลยีแข่งขันได้หรือไม่ การตลาดสู้ได้หรือไม่ ยกเว้นกรณีค่ายรถที่ขายดี เช่น โตโยต้า ฮอนด้าจะย้ายออกไปตรงนี้น่าเป็นห่วง

“กรณีของเชฟโรเลตสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่พอมีการลดราคารถยนต์คนยอมกำเงินสดออกมาซื้อ…วันนี้อาจจะต้องมีแคมเปญช็อปช่วยชาติ ที่ได้ลดภาษี กระทรวงการคลัง offer มาแล้วว่าถ้าจัดสัมมนาจะได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่า แต่ยังไม่ offer ลดหย่อนภาษีส่วนบุคคล ถ้า offer ภาษีส่วนบุคคลอาจจะมีคนที่พอมีเงิน ไปกิน ไปช็อป พักโรงแรม กินอาหารตามโรงแรมแล้วก็มาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้นอยากให้มีการกระตุ้น…”

“รัฐต้องส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม เช่น เรื่องรถ EV ถ้าไม่รีบส่งเสริมให้รถ EV ในประเทศเกิดต่อไปอาจจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศหากรถ EV จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด เช่น ออกมาตรการลดหย่อนภาษี 2-3 แสนบาทสำหรับคนที่มาซื้อรถ EV ที่ผลิตในประเทศ จะลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลหรือนิติบุคคล เช่น อู่แท็กซี่ถ้าซื้อ 10 คันก็ได้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 2-3 ล้านบาท นอกจากจะทำให้อุตสาหกรรยานยนต์เกิดแล้วยังทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์สาธารณะเกิดด้วย” นายสุพันธุ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top