BH ผนึก PRINC ตั้งศูนย์รักษามะเร็ง พร้อมเปิดนำร่องภาคอีสาน-เหนือ Q1/64

บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ผนึกกำลังความร่วมมือกับเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ในกลุ่มบมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) จัดตั้ง ‘ศูนย์รักษามะเร็งแบบองค์รวม’ แห่งภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ภายใต้โมเดล ‘บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก’ (Bumrungrad Health Network) โดยนำร่องที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ในจังหวัดพิษณุโลก และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ภายในไตรมาส 1/64

นายสมศักดิ์ วิวัฒนสินชัย ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก กล่าวว่า ความร่วมมือกับเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีทางธุรกิจในการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา ที่ได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘ศูนย์กระดูกสันหลัง Absolute Spine Care’ และ ‘ศูนย์ข้อเข่าและข้อสะโพก Joint Surgery Center’ ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของการยกระดับการผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งนี้

ผนวกกับการนำจุดแข็งของศูนย์รักษามะเร็งฮอไรซันของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มาต่อยอดภายใต้ โมเดล ‘บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก’ เพื่อยกระดับด้านสาธารณสุขของไทย ให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับโอกาสในการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น ในราคาที่เข้าถึงได้ ตลอดจนการพัฒนาเชิงวิชาการร่วมกัน

โดยมีแผนการจัดตั้ง ‘ศูนย์รักษามะเร็งแบบองค์รวม’ ในระยะแรกที่โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ ทั้งสองศูนย์จะทำหน้าที่เป็น Cancer Center Hub หรือศูนย์รักษามะเร็งกลางสำหรับโรงพยาบาลพริ้นซ์แห่งอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง อีกทั้งเป็นศูนย์ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ต้องการส่งผู้ป่วยที่เกินกำลังรักษามายัง Cancer Center Hub เพื่อทำการรักษาพยาบาลและส่งตัวกลับที่โรงพยาบาลต้นทางเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ มีจำนวน 11 แห่ง ที่จะเข้าเป็นพันธมิตรที่ดีกับทางบำรุงราษฎร์ ซึ่งกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

โดยเล็งเห็นโอกาสในการขยายขอบเขตการให้บริการของ ‘ศูนย์รักษามะเร็ง’ ในเครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ กระจายใน 2 ภูมิภาคก่อน โดยเริ่มจากโรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ มีแพทย์กว่า 200 คน ซึ่งมีศักยภาพดูแลผู้ป่วยในแถบภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากมีเครือข่ายโรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร และโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ เป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อคนไข้ โดยมีฐานผู้ป่วยรวมกันประมาณ 4 – 5 ล้านคน

และอีกแห่งคือ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์กลางในการส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว และกัมพูชา อีกด้วย ซึ่งทั้งสองแห่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีจำนวนมาก และยังเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงเป็นเมืองรองที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถขยายฐานผู้ป่วยในระดับกลางได้เป็นอย่างดี

นพ. ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดา ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งฮอไรซัน และอายุรแพทย์ด้านโลหิตวิทยาและเนื้องอกวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงข้อโดดเด่นของศูนย์รักษามะเร็งแบบองค์รวมว่า ด้วยวิธีการรักษาที่แตกต่างของบำรุงราษฎร์ ทำให้ผู้ป่วยชาวอาหรับมักพูดต่อกันว่าถ้าป่วยเป็นมะเร็งให้มารักษาที่บำรุงราษฎร์ รวมถึงผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และบังกลาเทศ ก็ติดต่อเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลฯ ด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งในด้านพัฒนาองค์ความรู้ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงมีแพทย์ผู้ชำนาญการจากสาขาต่าง ๆ มากกว่า 1,300 คน และบุคลากรที่มีประสบการณ์ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทำให้บำรุงราษฎร์สามารถสร้างทีมในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพได้สูงสุด

ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งประมาณ 18 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.6 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 6 รายของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โดยในประเทศไทย มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 120,000 คนต่อปี และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 70,000 คนต่อปี และมีการคาดการณ์จากองค์การอนามัยโลกว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 75% ในระยะเวลา 20 ปี จากสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งในปี พ.ศ. 2553 จนถึงปี พ.ศ. 2573

เนื่องจากโรคมะเร็งถือเป็นโรคยากที่มีความซับซ้อนและรุนแรง ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้สะสมองค์ความรู้ และพัฒนาขั้นตอนการรักษามะเร็ง ตลอดจนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และ AI เข้ามาช่วยในการรักษา โดยดำเนินการผ่าน ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ของโรงพยาบาลฯ ซึ่งให้การดูแลรักษาอย่างครอบคลุมด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการจากหลายสาขาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญการด้านมะเร็งโดยเฉพาะ และมีห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลอยู่ภายในโรงพยาบาล ทำให้ได้ผลตรวจรวดเร็วและแม่นยำ เฉพาะในปี 2563 มีผู้ป่วยให้ความไว้วางใจเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งกับโรงพยาบาลถึง 13,000 ราย

อีกประการสำคัญ คือ บำรุงราษฎร์ได้คำนึงถึงประสิทธิผลในการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วยสูงสุด ซึ่งในการรักษานั้น โรงพยาบาลฯ ได้นำเคสมะเร็งของผู้ป่วยที่ซับซ้อน รักษายาก เข้าในที่ประชุม Tumor Board เพื่อผสมผสานการรักษาหลายวิธีเข้าด้วยกัน โดยนำเอาองค์คณะแพทย์ทุกสาขา มากกว่า 30 คน ประกอบด้วย อายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็งเฉพาะทาง พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ เภสัชกร เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชพันธุศาสตร์ เจ้าหน้าที่ห้อง Lab พยาบาล และนักวิจัย เข้าร่วมประชุมเพื่อหาวิธีการรักษาร่วมกัน มีการวินิจฉัยและประมวลผล เพื่อตัดสินใจวางแผนการรักษามะเร็ง เพื่อการรักษาที่ตรงจุด แม่นยำ เกิดผลข้างเคียงน้อย ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในผู้ป่วยโรคมะเร็งหนึ่งคนนั้น มีผู้ชำนาญการทุกสาขาที่เกี่ยวข้องในการรักษาโรคมะเร็งทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยให้คำแนะนำ คอยติดตามผลการรักษา และแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยตลอดระยะเวลาของการรักษา นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานเพื่อคุณภาพการรักษาต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ โมเดล ‘บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก’ เป็นการดำเนินงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องเงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากร และรายได้ โดยบำรุงราษฎร์ให้การสนับสนุนในการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลพันธมิตร เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ในส่วนของแพทย์ มีการจัดทีมแพทย์เฉพาะทาง โดยให้การรักษาตามแนวทางของ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการตามมาตรฐานของโรงพยาบาลพันธมิตร ในราคาที่สอดคล้องกับสภาวะของภูมิภาคนั้น ถือได้ว่าเป็นโมเดลที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของบำรุงราษฎร์และพันธมิตรให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน และช่วยยกระดับการบริบาลทางการแพทย์ในประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่กระจายอยู่ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพตามแนวทางของบำรุงราษฎร์ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top