CGD ขายโรงแรม 2 แห่งให้ PDI ราว 5.5 พันลบ. ,PDI เล็งขายทิ้งโซลาร์ปรับโมเดลรุกรร.

บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) ในกลุ่ม บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) เตรียมขาย 2 บริษัทในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ และประกอบธุรกิจโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพ ณ แม่น้ำเจ้าพระยา ให้กับ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม CGH เช่นเดียวกัน โดยมีมูลค่าซื้อขาย 5.5 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง CGD และ PDI เตรียมเพิ่มทุนพร้อมแจกวอร์แรนต์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อรองรับการขยายงานด้วย

CGD แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) เห็นสมควรเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการขายสินทรัพย์ ซึ่งเข้าข่ายรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยบริษัท แลนด์มาร์ค โฮลดิ้งส์ จำกัด (LH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CGD ถือหุ้นอยู่ 70% จะขายหุ้นทั้งหมด 99.99% ของ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท วอเตอร์ฟร้อนท์ โฮเต็ล จำกัด (WFH) และ บริษัท เออร์เบิน รีสอร์ท โฮเต็ล จำกัด (URH) ให้แก่ PDI มูลค่ารวม 5.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อหุ้น WFH มูลค่าราว 1,950 ล้านบาท และ URH ราว 3,550 ล้านบาท

การขายหุ้นของ 2 บริษัทให้กับ PDI นั้น จะแบ่งเป็น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการขายสัดส่วน 51% ของ WFH คิดเป็นมูลค่า 994.5 ล้านบาท และ 51% ของ URH คิดเป็นมูลค่า 1,810.5 ล้านบาท หลังจากนั้น LH ให้สิทธิ PDI ในการซื้อหุ้นที่เหลืออีก 49% ภายใน 12 เดือน โดยมีมูลค่าซื้อสำหรับ WFH อีก 955.5 ล้านบาท และ URH อีก 1,739.5 ล้านบาท

สำหรับ WFH และ URH จะจดทะเบียนจัดตั้งในเดือน ธ.ค.63 โดย WFH จะเข้าซื้อและรับโอนสินทรัพย์เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพทั้งหมดจาก LH และ URH จะเข้าซื้อและรับโอนสินทรัพย์เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพ ณ แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งหมดจาก LH

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ CGD ยังอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียน โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย และลดทุนจดทะเบียน ด้วยการลดมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จากหุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นละ 0.61 บาท เพื่อหักลบส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้น และชดเชยขาดทุนสะสมจำนวน 1,664.27 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ขาดทุนสะสมคงเหลือ 61.54 ล้านบาท

หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 9,099.5 ล้านบาท จากเดิม 6,074.99 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 4,958.23 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.61 บาท แบ่งจัดสรร 1,653.23 ล้านหุ้นรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ที่จะออกไม่เกิน 1,653.23 ล้านหน่วย ให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 5 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 2 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 1 บาท

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 3,305 ล้านหุ้น เป็นการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ที่จะจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) และผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO)

สำหรับวัตถุประสงค์การเพิ่มทุน เพื่อนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัท รวมถึงเพื่อใช้คืนหนี้ของบริษัท

CGD ระบุว่าการขายหุ้นของ 2 บริษัทดังกล่าว ทำให้บริษัทได้รับกระแสเงินสดทันทีจากการทำรายการและสามารถพิจารณานำเงินสดที่ได้รับนำไปชำระคืนหนี้ของบริษัทที่มีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะได้ขึ้นในอนาคต รวมถึงการรับชำระหนี้คืนในอนาคตจะทำให้สามารถคืนหนี้ค่าก่อสร้างได้เกือบทั้งหมด ซึ่งจะทำให้โครงการ โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเด้นซ์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว สามารถทำการขายตามกลยุทธ์ของบริษัทได้อย่างคล่องตัว โดยที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย อีกทั้งยังสามารถรับรู้รายได้ได้ทันที

ทั้งนี้ บริษัทกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 18 ม.ค.64 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ด้าน PDI แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) อนุมัติการลงทุนใน WFH และ URH พร้อมทั้งรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากบริษัทที่เกี่ยวโยงกัน โดยซื้อครั้งแรกในสัดส่วน 51% จาก LH คิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 2,805 ล้านบาท และภายใน 1 ปี บริษัทจะได้สิทธิในการซื้อหุ้นส่วนที่เหลือ 49% จากบริษัทดังกล่าว ซึ่งการเข้าลงทุนในครั้งนี้ ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การประกอบธุรกิจจากการประกอบธุรกิจทั่วไป และเป็นการขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทได้

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินสดของบริษัทซึ่งมีเพียงพอสาหรับการเข้าทำรายการดังกล่าว

นอกจากนี้คณะกรรมการ ยังอนุมัติขายกิจการ 3 บริษัทในธุรกิจประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับบริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (BC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) มูลค่า 1,705 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียน โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนเป็น 6,403.27 ล้านบาท จากเดิมที่ 3,013.27 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 301.33 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท แบ่งจัดสรรจำนวนไม่เกิน 226 ล้านหุ้น ขายผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท และหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 75.33 ล้านหุ้น ใช้รองรับวอร์แรนต์ ที่บริษัทจะออกไม่เกิน 75.33 ล้านหน่วย อายุ 3 ปี ให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตรา 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท

บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายในครั้งนี้ จำนวนประมาณ 2,260 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการในอนาคตที่มีผลตอบแทนที่เหมาะสม อีกทั้งบริษัทยังจะเก็บสำรองเงินดังกล่าวไว้เผื่อการชำระคืนหนี้จากการออกตราสารหนี้ สำหรับเงินส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

PDI กำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 25 ธ.ค.63 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

นายทอมมี่ เตชะอุบล กรรมการผู้จัดการ ของ PDI กล่าวว่า การเข้าซื้อโรงแรมระดับโลกพร้อมกันสองแห่งจะสร้างการรับรู้รายได้ทันทีและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในอนาคต การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ PDI ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมและการบริการอย่างเต็มตัว หลังจากบริษัทได้ซื้อที่ดินบนถนนสาธรเพื่อสร้างโรงแรมแห่งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นโรงแรมระดับหรูที่มีห้องพักจำนวน 209 ห้อง คาดว่าจะดำเนินการสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 66 มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,500 ล้านบาท

สำหรับโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ฯ มีห้องพักจำนวน 299 ห้อง และคาเพลลาฯ มีห้องพักและวิลล่าจำนวน 101 ห้อง ซึ่งโรงแรมทั้งสองแห่งนี้เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้และตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 35 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาผืนสุดท้าย เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ โดยเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ ในการซื้อกิจการครั้งนี้ บริษัทจะใช้เงินทุนที่มีอยู่และจัดสรรไว้สำหรับการลงทุนในธุรกิจโรงแรมและการบริการ

ทั้งนี้ หากโรงแรมทั้งสองแห่งได้มีเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี 64 เป็นปีแรก บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากโรงแรมทั้งสองแห่งรวมกันสูงกว่ารายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นรวม 50 เมกะวัตต์ ซึ่งแม้ในสภาวะตลาดที่ยากลำบากในเวลานี้ แต่โรงแรมทั้งสองแห่งก็เปิดตัวได้อย่างประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับที่ดีมียอดการใช้บริการทั้งร้านอาหารซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลกและห้องประชุมจัดเลี้ยงซึ่งมีพื้นที่ให้บริการได้กว่า 5,000 ตารางเมตรท่ามกลางทิวทัศน์ริมแม่น้ำเต็มรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์อย่างล้นหลาม และต่อเนื่องจากการซื้อกิจการโรงแรมดังกล่าว บริษัท จะมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจโรงแรมและการบริการเป็นหลัก

“ถึงแม้ธุรกิจโรงแรมและการบริการจะเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในรอบหลายทศวรรษจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ขณะเดียวกันก็มีช่องทางโอกาสในการลงทุนอยู่ด้วย โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการเข้าซื้อกิจการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ทันที และให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาวเมื่อธุรกิจโรงแรมและบริการฟื้นตัวซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน”

นายทอมมี่ กล่าว

นายทอมมี่ กล่าวว่า บริษัทยังได้เตรียมเงินลงทุนเพิ่มเติมผ่านการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักซึ่งรวมถึงที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมสังกะสีเดิม ตลอดจนแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบริษัท ในการลงทุนเข้าซื้อกิจการที่น่าสนใจอื่น ๆ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแผนการขายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ในประเทศไทยกำลังการผลิตรวม 36.4 เมกะวัตต์ ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัทย่อยของบริษัท พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี จำกัด ให้กับ BAFS ในมูลค่า 1,705 ล้านบาท และจะพิจารณาหาผู้ลงทุนซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอีก 13 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นและดำเนินธุรกรรมดังกล่าวทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1/64

ขณะที่ CGD ระบุเพิ่มเติมว่าการปรับกลยุทธ์ด้วยการขายธุรกิจโรงแรมให้กับ PDI ครั้งนี้ จะทำให้ได้รับกระแสเงินสด เพื่อนำมาชำระคืนหนี้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายที่มีอยู่อย่างเป็นนัยสำคัญ และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ประมาณ 5 เท่าในปัจจุบัน ลดลงเหลือประมาณ 2.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมตามนโยบายของบริษัท นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เป็นโอกาสที่จะปิดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่บริษัทมีอยู่ เนื่องจากภาระหนี้ค่าก่อสร้างที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

หลังจากการระดมทุนและชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว บริษัทจะมีโครงการคอนโดมิเนี่ยม โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเด้นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ในสถานะก่อสร้างเสร็จและพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที “Ready to Move in” ซึ่งมีมูลค่าโครงการคงเหลืออยู่กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยมียอดขายรอโอน (Backlog) ที่รอการโอนกรรมสิทธิ์กว่า 1 หมื่นล้านบาท

มูลค่าโครงการดังกล่าวจะเป็นแหล่งการรับรู้รายได้ที่สำคัญสำหรับบริษัทที่จะสร้างผลกำไรโดยตรงให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทปรับลดลงต่ำกว่า 2.8 เท่าได้ต่อไป

อีกทั้ง บริษัทมีเชื่อมั่นในแผนการปรับกลยุทธ์ของบริษัทในครั้งนี้ ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวได้อย่างมั่นคง จึงได้พิจารณานำเสนอแผนการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาในคราวเดียวกันนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 ธ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top