KTB คาดสินเชื่อปี64 โต 3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงปัญหาศก. คุม NPL ไม่เกิน 5%

นางสาวศรัณยา เวชากุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า แผนงานของธนาคารกรุงไทยในปี 64 ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3% ซึ่งสอดคล้องตามการคาดการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่โต 3% แต่การเติบโตของสินเชื่อธนาคารจะเน้นไปที่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ยังมีมาร์จิ้นในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้อยู่ในระดับที่ดีตามภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ ซึ่งในปีหน้าความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัวยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อคุณภาพหนี้ของธนาคารต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารเน้นหันมาปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สินเชื่อในกลุ่มที่มีหลักประกัน และสินเชื่อส่วนบุคคลในบางกลุ่มลูกค้า

โดยจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารในปี 64 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยมาที่ 2.9% จากปีนี้ที่ 3% โดยทีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารในปีหน้าจะยังอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 63 แบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 40% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และภาครัฐ 40% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 14-15%

ขณะที่แนวโน้มการตั้งสำรองฯในปี 64 คาดว่าจะลดลงจากปี 63 ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองฯรองรับแนวโน้มหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปแล้วค่อนข้างมากในแล้วในปี 63 ทำให้การตั้งสำรองฯในปี 64 คาดว่าจะเป็นการตั้งสำรองฯในระดับปกติตามเกณฑ์ โดยที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของธนาคารจะอยู่ในช่วง 125-130% ใกล้เคียงกับปี 63 ที่ 130%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของสัดส่วนหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ของธนาคารยังมองว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ราว 4% ต้นๆ หรือคิดเป็นมูลค่า 1.04-1.08 แสนล้านบาท โดยที่ในปี 64 ธนาคารจะควบคุม NPL ให้ไม่เกินระดับ 5% และจะเน้นการบริหารจัดการ NPL เอง โดยที่ยังไม่มีแผนการขายหนี้เสียออกไปเพื่อทำให้เ NPL ลดลง

สำหรับงบลงทุนด้านเทคโนโลยีในปี 64 จะยังใช้เงินลงุทนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยที่มีงบลงทุนราว 6-7 พันล้านบาท ที่ไม่ได้ใช้ลงทุนจากงบลงทุนในปี 63 ทั้งหมด 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆจะนำมาใช้ต่อในปี 64 เพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการทำงานภายในของธนาคารและพัฒนางานบริการให้กับลูกค้า ซึ่งยังมีแผนการลงทุนด้านเทคโนโนโลยีที่เตรียมลงทุนต่อเนื่องจากปี 63 มาในปี 64

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า แผนงานของธนาคารในปี 64 จะเน้นไปที่การรักษาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนและความท้าท้าทายของปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจธนาคาร หลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อ และการดูแลลูกค้าของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ลูกค้าและธนาคารสามารถผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปได้

โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64 ธนาคารมองว่าเติบโตได้ 3% จากปีนี้ที่หดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยหนุนของการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจในปีหน้าคาดว่าจะมาจากการลงทุนของภาครัฐที่ทยอยออกมามากขึ้น และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัวกลับมา ซึ่งมองว่าการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆของภาครัฐในปีหน้าที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกยังสามารถเติบโตได้จากกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศที่กลับมามากขึ้นหลังจากหลายๆประเทศคลายล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตามปัจจัยกดดันที่ยังคงกดดันต่อเศรษฐกิจจะยังอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวกลับมาได้ช้า ซึ่งธนาคารคาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/64 โดยตามข้อมูลการคาดการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ฯคาดว่าในปี 64 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยอยู่ที่ 9.5 ล้านคน และ 5.5 ล้านคน ตามลำดับ

ในส่วนของธนาคารกรุงไทยในปี 64 ยังคงเน้นการพัฒนาบริการของธนาคารผ่านระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาสร้างความั่งยืนให้กับธนาคาร และยกระดับการบริการของธนาคารกรุงไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารกรุงไทย เพื่อลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ และทำให้การกระบวนการทำงานภายในของธนาคารรวดเร็วมากขึ้น

อีกทั้งธนาคารยังคงผลักดันแพลตฟอร์มที่เป็นระบบเปิดของธนาคารที่ได้พฒนาขึ้นมา โดยร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนระบบเปิดของธนาคาร เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลได้ง่ายและสะดวก โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่โครงการชิม ช้อป ใช้ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และล่าสุดโครงการคนละครึ่ง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และช่วยผลักดันประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น

ด้านแนวโน้มผลงานของธนาคารในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 64 การขยายสินเชื่อยังคงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อบลดลง โดยสิ่งที่ธนาคารยยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องอยู่ที่การดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านความยากลำบากในครั้งนี้ไปได้พร้อมกับธนาคาร และการตั้งสำรองฯที่ยังสูงอยู่เพื่อผ้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“กรุงไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพ ไม่ใช่เร่งทำกำไร ไม่ใช่เร่งเติบโตสินเชื่อในภาวะที่วิกฤติยังไม่ผ่านพ้นไป เรายังคงดูแลลูกค้า และป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเราเอง พร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในของธนาคาร และลดต้นทุนของการทำงานให้ลดลง โดยเฉพาะการลดต้นทุนการให้บริการที่สาขาลงมาอยู่ที่ 35% ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันต้นทุนการให้บริการของสาขาธนาคารกรุงไทยอยู่ที่ 42-48% ซึ่งสูงกว่าคู่เทียบที่ 40% หากรายได้ของธนาคารหายไป 1 ล้านบาท ธนาคารควรจะต้องลดต้นทุนลง 4-5 ล้านบาท”

นายผยง กล่าว

สำหรับมุมมองธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 64 ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย มองว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะยังไม่เห็นการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนในปี 64 จากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจธนาคารเผชิญกับความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพสินเชื่อที่แต่ละธนาคารยังให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันและควบคุมเพื่อไม่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น และทิศทางการดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของแต่ละธนาคารจะมีมาตรการต่างๆที่ออกมาช่วยเหลือลูกค้าในแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม เพื่อประคองให้ลูกค้าของธนาคารผ่านพ้นวิกติในครั้งนี้ไปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top