In Focus: ย้อนรอยเศรษฐกิจโลกปี 63 โควิดทำพิษ วิกฤตฮ่องกง ปีชงจีน-สหรัฐ

เราก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมแล้ว และเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะผ่านพ้นปี 2563 แต่บรรยากาศทางเศรษฐกิจและสังคมช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ในปีนี้ไม่เหมือนกับปีก่อนๆ และอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นั่นเพราะวิกฤตการณ์มากมายที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่แทบไม่มีกะจิตกะใจที่จะเฉลิมฉลองเทศกาลรื่นเริงที่ใกล้จะมาถึง และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ภาวนาขออย่าให้ปีหน้าต้องเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำรอยเหมือนอย่างในปีนี้อีก

นาวาเศรษฐกิจโลกล่องลอยเข้าสู่ปลายปี 2563 อย่างสะบักสะบอม ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งลูกแล้วลูกเล่า นับตั้งแต่สงครามการค้าจีน-สหรัฐ วิกฤตฮ่องกง ผลกระทบจากการชำระแค้นระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน กระทั่งมาเจอกับไวรัสมรณะโควิด-19 นาวาลำนี้ก็เลยต้องจอดแน่นิ่ง แถมยังต้องหาทางปะรอยรั่วกันให้วุ่นวาย

In Focus สัปดาห์นี้ เราขอพาผู้อ่านย้อนรอยเส้นทางเศรษฐกิจตลอดปี 2563 เพื่อรำลึกความหลังว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในปีหนูไฟ และทำไมคนทั้งโลกจึงไม่อยากให้เรื่องเลวร้ายใดๆ เกิดขึ้นซ้ำเติมเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก

ไตรมาส 1: แค่ต้นปีก็โกลาหล

ย่างเข้าเดือนมกราคม 2563 ได้เพียง 3 วัน ทั่วโลกก็ตื่นตระหนกไปกับข่าวสหรัฐโจมตีท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดดของอิรัก ส่งผลให้นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ของอิหร่าน เสียชีวิตในปฏิบัติการโจมตีตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งอ้างว่า นายพลโซเลมานีมีแผนโจมตีสถานทูตสหรัฐหลายแห่ง ข่าวการสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงทันทีกว่า 200 จุด และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก

กระทั่งในช่วงเช้าของวันที่ 8 มกราคม อิหร่านเปิดฉากแก้แค้นสหรัฐด้วยการยิงขีปนาวุธจำนวนหลายสิบลูกถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐในจังหวัดอันบาร์ของอิรัก ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งเหวทันทีกว่า 400 จุด และหนุนราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นกว่า 4% จากนั้นไม่นานสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุมเข้มด้านการบินเหนือน่านฟ้าอ่าวเปอร์เซียในวันเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่า ราคาหุ้นกลุ่มสายการบินทั้งในสหรัฐและทั่วโลกร่วงระนาวอย่างไม่ต้องสงสัย … และในวันเดียวกันนั้น ยังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อกองทัพอิหร่านยิงเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินยูเครนตกโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเกือบ 180 คนเสียชีวิตทั้งหมด จนทำให้เหตุการณ์บานปลายไปสู่การประท้วงอิหร่านทั่วโลก

นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมไปจนสิ้นสุดไตรมาส 1 ของปี 2563 ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ “โควิด-19” ซึ่งมีต้นตอมาจากเมืองอู่ฮั่นของจีน ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ล็อกดาวน์เศรษฐกิจ” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด มาตรการดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกทรุดตัวลงทันตาเห็น และแน่นอนว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคก็ฟุบตามไปด้วย เนื่องจากรัฐบาลทุกประเทศออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านหรือทำงานจากที่บ้าน ซึ่งทำให้ผู้คนหมดโอกาสที่จะออกไปเดินตามห้างเพื่อจับจ่ายซื้อของ

และปิดท้ายไตรมาส 1 ด้วยเหตุการณ์สุดเซอร์ไพรส์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 มี.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการฉุกเฉิน 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เพื่อหวังจะพยุงเศรษฐกิจสหรัฐให้รอดพ้นจากผลกระทบของโควิด-19 แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นกลับไม่ได้ขานรับ โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงไปกว่า 700 จุดในวันดังกล่าว เพราะนักลงทุนมองว่าการตัดสินใจของเฟดบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลอย่างมากต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต

ไตรมาส 2: ฮ่องกงเผชิญมรสุมครั้งใหญ่

ผ่านพ้นไตรมาสแรกแค่เพียงไม่นาน ก็เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย การประท้วงมีชนวนเหตุมาจากการที่ชาวฮ่องกงลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจีนที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง เนื่องจากประชาชนเชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการพูดและสิทธิในการประท้วง และจะทำให้ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์จีนถูกลงโทษ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียระบุว่า การออกกฎหมายความมั่นคงถือเป็นอวสานของหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงบานปลายจนกลายเป็นการเผาและทุบทำลายสาธารณสมบัติ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจฮ่องกงที่บอบช้ำอยู่แล้วจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การใช้กฎหมายความมั่นคงของจีนยังเปิดช่องให้ตำรวจโลกอย่างสหรัฐเข้าแทรกแซงด้วยการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงในแง่ของการเก็บภาษีและการออกวีซ่า เพื่อกดดันจีนทางอ้อม เนื่องจากการดำเนินการของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อบทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก และส่งแรงกระเพื่อมไปถึงจีน เนื่องจากฮ่องกงเป็นช่องทางระดมทุนสำคัญของบรรดาบริษัทจีน

การเล่นใหญ่ไฟกระพริบของสหรัฐ ยังส่งผลให้บรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐตบเท้าเข้าร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงออสเตรเลียที่ประกาศฉีกข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ทำร่วมกับฮ่องกงและจีน แถมยังเปิดโอกาสให้กับพลเมืองฮ่องกงที่ต้องการย้ายถิ่นอาศัย ให้สามารถนำทักษะความรู้ ธุรกิจ และทุกสิ่งที่พลเมืองเหล่านี้เคยมีภายใต้กฎระเบียบเดิมในฮ่องกง เข้าไปยังดินแดนออสเตรเลียได้

แรงกดดันจากเหตุการณ์ประท้วงและผลพวงของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกงหดตัวรุนแรงถึง 9% ในไตรมาส 2 และหดตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮ่องกงยังถูกซ้ำเติมจากการที่รัฐบาลสิงคโปร์และฮ่องกงประกาศเลื่อนโครงการเดินทางทางอากาศระหว่างกันแบบไม่ต้องกักตัว (Air Travel Bubble) ออกไปจนถึงปี 2564 จากเดิมที่มีกำหนดจะเริ่มโครงการในวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในฮ่องกง

วิกฤตการณ์ในฮ่องกงไม่ได้อยู่แค่ในภาคธุรกิจ แต่ภาคประชาชนกำลังเผชิญกับมาตรการที่เข้มงวดในการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยล่าสุดรัฐบาลเตรียมออกคำสั่งห้ามประชาชนไม่ให้ออกไปรับประทานอาหารในร้านอาหารหลังจากเวลา 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น รวมทั้งสั่งปิดสถานออกกำลังกายและร้านเสริมสวย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในแผนการที่รัฐบาลจะเริ่มกลับมาใช้มาตรการเป็นวงกว้างเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ไตรมาส 3: ยังพอมีข่าวดีให้ชื่นใจกันบ้าง

หลังจาก 2 ไตรมาสแรกผ่านพ้นไปอย่างทุลักทุเล ตลาดการเงินก็มีข่าวดีให้รู้สึกผ่อนคลายได้บ้าง เมื่อบรรดาผู้นำ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) บรรลุดีลครั้งประวัติศาสตร์ในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 8.55 แสนล้านดอลลาร์ การประชุมมาราธอนตลอดระยะเวลา 4 วันของผู้นำ EU ในครั้งนั้นเป็นไปอย่างตึงเครียดและส่อเค้าว่าจะล่มในช่วงแรก เนื่องจากสมาชิก EU มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน เนื่องจากเงินส่วนหนึ่งของกองทุนจะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดโดยไม่ต้องชำระคืน และที่เหลือเป็นเงินกู้ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่น อิตาลี และ สเปน จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแผนฟื้นฟูดังกล่าว แต่ 4 ประเทศจอมตระหนี่อย่างเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรีย คัดค้านการมอบเงินแบบให้เปล่า และขอให้ประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องทำการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการได้รับเงินกู้

อย่างไรก็ดี การประชุมครั้งประวัติศาสตร์นั้นจบลงด้วยดี เมื่อทุกฝ่ายตกลงเห็นพ้องในเงื่อนไขใหญ่ทั้ง 4 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเงื่อนไขที่ว่า EU จะกู้ยืมเงินจากตลาดจำนวนมาก และจากนั้นจะนำไปจัดสรรให้กับบรรดาประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด โดย EU จะดำเนินการกู้ยืมเงิน 7.5 แสนล้านยูโรผ่านการออกตราสารหนี้ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ซึ่งในเงินจำนวนนี้ จะถูกแบ่งออกมา 3.90 แสนล้านยูโรเพื่อเป็นเงินให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนอีก 3.60 แสนล้านยูโรจะนำไปปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ

นอกเหนือจากข่าวดีของฝั่งยุโรปแล้ว เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ยังได้อานิสงส์จากข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ผุดออกมาเป็นระลอก ซึ่งรวมถึงวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา, ไฟเซอร์, ไบโอเอ็นเทค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวมทั้งความคืบหน้าในการพัฒนาแอนติบอดีของบริษัท Regeneron เพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน

ไตรมาส 4: โค้งสุดท้ายที่ยังหายใจไม่คล่อง

แม้มีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ประชาชนทั่วโลกเริ่มวิตกกังวลอีกครั้ง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกในหลายประเทศ และทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยล่าสุดในสหรัฐนั้น รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรมากที่สุดของประเทศ ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งหมายความว่า ชาวแคลิฟอร์เนียถูกจำกัดโอกาสในการออกมาจับจ่ายซื้อของ และเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสำคัญนี้

ข้อมูลล่าสุดของ Worldometer ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 68,040,161 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,552,867 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกถึง 15,370,339 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลกที่ระดับ 290,474 ราย ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสาหัสรองลงมาคือ อินเดีย 9,705,005 ราย, บราซิล 6,628,065 ราย, รัสเซีย 2,515,009 ราย และฝรั่งเศส จำนวน 2,295,908 ราย

นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกซบเซาลงในไตรมาสสุดท้าย และที่เพิ่มความน่ากังวลอยู่ในเวลานี้ก็คือการที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 14 รายเมื่อวานนี้ โดยสหรัฐอ้างว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีบทบาทในการตัดสิทธินักการเมืองฝ่ายค้านในฮ่องกง

สำหรับในไตรมาส 4 ปีนี้ คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่น่าสนใจไปกว่าการเลือกตั้งในสหรัฐ เพราะผลการเลือกตั้งของชาติมหาอำนาจรายนี้จะมีผลต่อทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง และจนถึงขณะนี้คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า นายโจ ไบเดน จากพรรเดโมแครต น่าจะได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ แม้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งยังไม่ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการก็ตาม

สื่อส่วนใหญ่ฟันธงแล้วว่า นายไบเดน วัย 78 ปี จะได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค. 2564 หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับคณะบริหารของนายไบเดน

นอกเหนือจากข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว สิ่งที่นักลงทุนจับตามากสุดที่ในเวลานี้คือ ความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยในวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และเพื่อให้เวลาแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นในการเจรจาข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

… ส่วนทิศทางในปีหน้านั้น ล่าสุดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวราว 3.6% แต่ก็เตือนว่ายังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก ซึ่งผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกควรให้ความช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและภาคธุรกิจที่เปราะบาง เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top