พาณิชย์ เผยส่งออก ม.ค.63 โต 3.35% กลับมาบวกครั้งแรกรอบ 6 เดือน

  • กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกไทย ม.ค.63 ขยายตัว 3.35% จากตลาดคาด -3.1 ถึง -2.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
  • ด้านการนำเข้า ม.ค. 63 หดตัว -7.86%
  • ดุลการค้า ม.ค. 63 ขาดดุล 1,555 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค.63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 19,625.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.35% เป็นการกลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัวราว -3.1% ถึง -2.9% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 21,181.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -7.86% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,555.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.63 กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ 3.35% อย่างไรก็ตาม เมื่อหักทองคำและน้ำมันการส่งออกจะหดตัว 0.6%

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกในเดือน ม.ค.ให้ขยายตัวมาจาก 1.การส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงตามทิศทางราคาในตลาดโลก ซึ่งพบว่าปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 299.6% เนื่องจากตลาดมีความกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในปี 62 ที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี เป็นแรงกระตุ้นการซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น 2. การส่งออกน้ำมันเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากโรงกลั่นปิดทำการเมื่อปลายปี 62

3.สินค้าเกษตรสำคัญกลับมาขยายตัว และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการขยายตัวต่อเนื่อง 4. การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในตลาดที่สำคัญ และบางตลาดกลับมาขยายตัว 5. การปรับตัวของห่วงโซ่การผลิตภายใต้ผลกระทบจากสงครามการค้าในทิศทางที่ดีขึ้น และ 6. ความหลากหลายของสินค้าไทย และการกระจายตัวของตลาดส่งออกไทย ช่วยประคับประคองการส่งออกไทยได้ดี ในระยะที่มีปัจจัยท้าทายหลายประการ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.นี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่าใดนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มชะลอตัวลง สินค้าไทยหลายรายการจะมีโอกาสกลับมาส่งออกในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งการผลิตสินค้าในกลุ่มดังกล่าวของไทยยังมีความเข้มแข็ง สามารถรองรับปริมาณความต้องการสินค้าจากหลายประเทศในภูมิภาคได้

“สินค้าจากไทยยังสามารถรองรับดีมานด์ในภูมิภาคได้ เรามีของที่ตลาดต้องการ เช่น กลุ่มอาหาร เชื่อว่าจะเป็นสินค้าดาวรุ่งได้ เพราะท่ามกลางภาวะที่หลายประเทศยังมีความกังวลต่อความปลอดภัยในอาหารของประเทศตัวเอง”

ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 63 ว่า เศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยยังเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น-กลาง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเริ่มลดลง จึงคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และประเมินว่าทางการจีนจะทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้

ส่วนค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงต้นปี อาจช่วยลดแรงกดดันสำหรับสินค้าไทยที่มีการแข่งขันทางด้านราคาสูงได้บ้าง แต่ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนรร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยลบในภาวะที่มีความผันผวนสูง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในเบื้องต้นประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยในช่วง 0-2% โดยคาดว่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยยังมั่นใจต่อพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี เป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่เป็นทางการจะต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมทูตพาณิชย์ในวันศุกร์นี้ (28 ก.พ.) ซึ่งจะมีการประเมินภาพรวมแนวโน้มการส่งออก ตลอดจนวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ร่วมกัน

“เราคาดว่าปีนี้ส่งออกคงเป็นบวกได้เล็กน้อย อาจจะอยู่ในช่วง 0-2% ถ้าจะให้โตได้ถึง 2% มูลค่าการส่งออกต่อเดือนต้องอยู่ที่ราว 21,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นปีนี้โต 2% ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่อาจจะต้อง work hard กันหน่อย”

ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ทั้งนี้ ในภาวะที่มีหลายปัจจัยท้าทายในตลาด ความหลากหลายของสินค้าส่งออกไทยที่กระจายในขั้นตอนต่างๆ ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าขั้นสุดท้าย และการกระจายตัวของตลาดส่งออก จะช่วยประคับประคองการส่งออกไทยในระยะนี้ได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าหรือตลาดส่งออกที่จำกัด

และในช่วงที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัย จึงเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ซึ่งสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ดีและได้รับมาตรฐานในระดับสากล

นอกจากนี้ การรุกตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อส่งเสริมการค้าที่ตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคมีความกังวลและระมัดระวังการเดินทางออกไปยังที่สาธารณะ

ทั้งนี้ สนค.เปิดเผยรายละเอียดของการนำเข้าในเดือน ม.ค.63 ว่า หดตัว -7.86% จากฐานสูงของการนำเข้าอาวุธเพื่อซ้อมรบในเดือน ม.ค.61 และการนำเข้าทองคำที่ลดลง เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัย การนำเข้าไทยเดือน ม.ค.63 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.17% อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.8% ในกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่ 18.7% สูงสุดในรอบ 2 ปี

ในรายตลาด การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ หลายตลาดกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 3.1% เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัว 9.9% และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัว 0.6% ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงขยายตัว 0.6% เป็นผลมาจากการส่งออกไปตลาดจีนขยายตัว 5.2% และตลาดอาเซียน (5) กลับมาขยายตัว 3.8%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียใต้ และ CLMV ปรับตัวลดลง 4.6% และ 0.7% ตามลำดับ สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ 6.6% ตามการส่งออกไปตลาดทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่หดตัว 16.0% 14.2% 4.1% และ 0.9% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.0%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 63)

Tags: , ,
Back to Top