BAY หั่นเป้า GDP ปีนี้เหลือโต 1.5% จากเดิมคาดโต 2.5%

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยฯ ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยรอบแรกในปี 63 ลดลงเหลือขยายตัว 1.5% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 2.5%

จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 63 ซึ่งทำให้รัฐบาลคาดว่าน่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หรืออย่างเร็วสุดในกลางเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ ความล่าช้าเกือบสองไตรมาสในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ที่จะสิ้นสุดเดือน ก.ย.63 โดยเฉพาะงบลงทุน ทำให้มีการปรับลดมูลค่าการลงทุนของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานลง 1.51 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.9% ของ GDP อีกทั้ง ความล่าช้าของการงบประมาณไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อการเลื่อนการลงทุนของภาครัฐเท่านั้น

แต่ยังมีผลเชิงลบต่อการลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจซ้ำเติมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาอยู่แล้ว

ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ไวรัสโควิด-19) มีผลกระทบของต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยคาดว่าจะทำให้การเติบโตของ GDP ไทยต่ำกว่าประมาณการเดิม 0.4% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต การท่องเที่ยวซบเซา และผลกระทบต่อรายได้

จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจะแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 1/63 ในขณะที่ผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตจะสูงสุดในไตรมาส 2/63 โดยคาดว่าการส่งออกจะลดลง 0.8% จากประมาณการเดิม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 30.8% และ 13.1% ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 63 ตามลำดับ โดยภาพรวมคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 4-5% ในปี 63

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงกว่าคาดจะส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ลดลงจากประมาณการเดิม 0.3% ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มลากยาวถึงเดือน พ.ค. ปริมาณน้ำที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมแล้ว ยังกระทบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานด้วย

โดยที่ผลกระทบจาก 3 ปัจจัยข้างต้นมองว่าส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/63 ติดลบ 0.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และติดลบ 1.5% จากไตรมาส 4/62 และคาดว่าไตรมาส 2/63 จะฟื้นตัวกลับมาเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.3% จากไตรมาส 1/63

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นที่มาจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ซึ่งมาตรการจากนโยบายการเงินคาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 1% ต่อปี ในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนกลไกทางการเงินให้พยุงเศรษฐกิจไปได้ในภาวะที่เครื่องยนต์อื่นๆ ยังไม่สามารถทำงานได้ดีและความมั่นใจของประชาชนลดลง

อีกทั้งยังติดว่าตามภาครัฐจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนออกมาได้เท่าไรหลังจากเกิดความล่าช้า ซึ่งธนาคารคาดว่าภาครัฐจะเบิกจ่ายงบลงทุนออกมาได้ในปีงบประมาณนี้ราว 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งหายไป 1.5 ล้านบาท จากงบลงทุนรวม 4.3 แสนล้านบาท

“ประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง หนี้สินกู้ยืมจากต่างชาติต่ำ หนี้สาธารณะก็ต่ำ ทำให้นโยบายการคลังยังมีความสามารถในการเข้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก แต่การผลักดันมาตรการต่างๆออกมากระตุ้นในตอนนี้อาจจะค่อนข้างยาก เพราะพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอาจจะมีนโยบายที่คิดเห็นแตกต่างกัน แต่ก็มองว่ายังมีโอกาสหากภาครัฐมองไปกลุ่มประชาชนระดับกลางที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ที่ตอนนี้ชะลอการท่องเที่ยวต่างชาติไป สามารถดึงกลุ่มนี้มาช่วยท่องเที่ยวไทยได้”

นายสมประวิณ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 63)

Tags: , ,
Back to Top