กฟผ.ยุคใหม่ เน้นบริการพลังงานครบวงจร จัดงบ 1 ล้านลบ.สร้างโรงไฟฟ้า-สายส่ง

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ เปิดเผยว่า นโยบายขับเคลื่อนกฟผ.หลังจากนี้จะต้องสอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุค New Normal ปรับวิธีคิดและการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL” หรือ กฟผ. เป็นของทุกคน และทำเพื่อทุกคน

เพราะนอกจากการผลิตและส่งไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว การดำเนินงานของ กฟผ. ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในยุคดิสรัปชั่น โดยตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) ด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์”

ขณะที่ตั้งงบลงทุนสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 แห่ง และระบบส่งไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 รวมเป็นเงิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 5.6 หมื่นล้านบาท

“กฟผ.จะเดินหน้าผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 Rev.1 ให้แล้วเสร็จตามกำหนด มุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกการดำเนินงาน ตั้งแต่การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าดิจิทัล (Digital Power Plant) ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบผสมผสาน

อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ…ผมมุ่งมั่นจะวางรากฐานให้ กฟผ. พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เสริมความแข็งแกร่งด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมกับยกระดับการทำงานสู่มืออาชีพด้านพลังงานไฟฟ้าที่โดดเด่น”

นายบุญญนิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ นายบุญญนิตย์ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ต่อจากนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย อดีตผู้ว่าการ กฟผ.ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า กฟผ.จะดำเนินงานใน 3 ด้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมายผู้ให้บริการด้านพลังงานครบวงจร ได้แก่

  1. การผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการลงทุนตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งกฟผงจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 6,150 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง 650 เมกะวัตต์ ในปี 2568, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600 เมกะวัตต์ ในปี 2569, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ ปี 2571 , โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 700 เมกะวัตต์ ปี 2572 และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ ปี 2578

นอกจากนี้ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนแท่นลอยน้ำ (Floating solar) ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาด 2,725 เมกะวัตต์ จำนวน 16 โครงการ ตั้งแต่ปี 2563-2580 โดยนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเสร็จกลางปี 2564

ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน (Grid Connectivity) ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานของภูมิภาค และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยในปี 2564 จะเร่งดำเนินสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (วัฒนานคร จ.สระแก้ว – พระตะบอง 2 กัมพูชา) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566

ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ (RE Forecast Center) พร้อมทั้งนำร่องศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการตอบสนองทางด้านโหลดในภาพรวมของประเทศ

ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) มีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 แล้ว ทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก

  1. การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเดิม แสวงหาพันธมิตรร่วมเป็นคู่ค้าเพื่อสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ ตลอดจนการสร้างการเติบโตผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ได้แก่ การซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ โดยไทยเตรียมซื้อไฟฟ้ากัมพูชา 300 เมกะวัตต์ ขณะที่สิงคโปร์จะซื้อไฟฟ้าจากไทยและสปป.ลาว ผ่านประเทศมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดย กฟผ.ยังมีแผนนำเข้าLNG ในอีก 3 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 1.9 ล้านตันในปี 2564 และนำเข้า 1.8 ล้านตันในปี 2565 และ ปี 2566

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน (O&M) ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ยังไม่เคยมีธุรกิจเกี่ยวกับการบำรุงรักษาด้านพลังงานงานหมุนเวียน และเตรียมการทำคลังรับจ่าย LNG ลอยน้ำ (FSRU) ที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าไตรมาส 1/64 จะขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลังจากนั้นจะจัดหาผู้รับเหมาต่อไป

  1. การรุกธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า, เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์, ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ Wallbox, ชุดดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Kit), ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว, ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top