PTT คาดผลงานปีนี้ดีขึ้น-เร่งบริษัทลูกลงทุน 9 แสนลบ.กระตุ้นเศรษฐกิจ

PTT หวังผลงานปีนี้ดีขึ้น จากปริมาณผลิต-มาร์จิ้นเพิ่ม พร้อมดึงบ.ลูก ลงทุนราว 9 แสนลบ.ใน 5 ปีช่วยกระตุ้นศก.

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) คาดว่าผลการดำเนินงานปี 63 จะดีขึ้นจากปีก่อน ตามปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นหลังบริษัทลูกเข้าซื้อกิจการค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ทั้ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นก็มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนในปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนราคาผลิตภัณฑ์นั้นคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะยังคงมีปริมาณผลิตใหม่ ๆ ทยอยออกสู่ตลาดโลก ขณะที่ความต้องการใช้ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ส่วนราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากเฉลี่ย 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทนต่าง ๆ

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของ ปตท.จะเน้นให้ความสำคัญที่กำไรเป็นหลัก โดยเบื้องต้นมองว่าภาพรวมมาร์จิ้นในปีนี้น่าจะดีขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำมาก โดยค่าการกลั่น (GRM) น่าจะดีขึ้นหลังตลาดปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) ปิโตรเคมีน่าจะดีขึ้นจากที่ต่ำมากในปีที่ผ่านมา

“ปีที่แล้วน่าจะ bottom out เพราะมีปัจจัยทั้ง 300,400 วัน (ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงาน) และมี turnaround ด้วยสเปรดร่วงมาเยอะ หลังเกิด trade war”

นายชาญศิลป์ กล่าว

ในปี 62 PTT และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิราว 9.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อนหน้า และมีรายจากการขายและการให้บริการรวม 2.2 ล้านล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์และสเปรดที่ลดลงในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ,กำไรจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติลดลงจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลง และต้นทุนก๊าซฯที่สูงขึ้น ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายยังอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องในอีก 2-3 ปี ซึ่งจะกระทบต่อเรื่องความต้องการใช้และราคาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ปตท.ก็จะต้องเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทลูกทั้งในส่วนบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ในปีก่อนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 2.97 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้า

และในปีนี้ก็คาดว่าจะทำให้เพิ่มขึ้นอีก รวมถึงการดำเนินงาน Project One ในการสร้างพลังร่วมของกลุ่ม และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว

ด้านราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้ก็เป็นโอกาสที่จะมีการนำเข้า LNG จากตลาดจร (spot) เข้ามาเพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีอยู่ 5.2 ล้านตัน/ปี โดยคาดว่าจะมีการนำเข้ารวมกับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด 2-5 ลำเรือในปีนี้

สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติยานยนต์ (NGV) อยู่ระหว่างเจรจากับภาครัฐ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการสนับสนุนการใช้ NGV อยู่ ก็ควรจะปล่อยให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่อยู่สูงกว่าราคาปัจจุบันราว 0.80-1 บาท/กิโลกรัม โดยปัจจุบันราคาขายปลีก NGV อยู่ที่ 15.31 บาท/กิโลกรัม และปตท.ยังคงแบกรับราคา NGV ที่จำหน่ายให้กับรถสาธารณะที่มีราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกด้วย โดยมีภาระในส่วนนี้ราว 300 ล้านบาท/เดือน ซึ่งหากมีการปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนดังกล่าว ปตท.ก็จะมีการลงทุนสถานีบริการ NGV ตามแนวท่อเพิ่มเติมด้วย

ส่วนการที่คณะทำงานย่อย ของคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม เสนอให้ปรับสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์/ลิตร จากการลดค่าพรีเมียมนั้น นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และไม่เชื่อว่าจะเป็นไปตามที่มีข่าวออกมา เพราะเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขัน และวัดด้วยการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันแสดงถึงประสิทธิภาพของผุ้ซื้อและผู้ขายที่จะอยู่ได้ในระยะยาว ขณะที่การกำหนดราคาน้ำมันให้เหมาะสมกับคุณภาพก็จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้น้ำมันดี ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำมันอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้กลางและสูง

“ปี 2020 ยังมีความท้าทาย เรื่องโคโรนาไวรัส ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 น่าจะคลี่คลาย หลังจากนั้นการแพทย์น่าจะดูแล เรื่องการท่องเที่ยวต่าง ๆ จะกลับมา คงไม่ซึมยาว ขณะเดียวกันเรื่องภัยแล้ง ก็กระทบภาคเกษตร แต่ภาคการช่วยเหลือกันของรัฐ ก็จะผ่านพ้นไปได้ น้ำสำหรับอุตสาหกรรมก็ได้รับการอนุเคราะห์จากจังหวัดจันทบุรีมาช่วย ถ้าไม่มีอะไรเดือนพฤษามิถุนา ฝนมาก็น่าจะคลี่คลายไปได้…เป็นสิ่งที่น่าจะกระทบในไตรมาส 1-2 ส่วนงบประมาณผ่านแล้วเข้าใจว่าน่าจะเริ่มเบิกจ่ายลงทุนในเดือนมีนา เมษา เป็นต้นไป”นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นคนละส่วนกับการนำหุ้นบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เข้าตลาดหุ้น เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนจะสามารถนำหุ้นเข้าตลาดได้ในปีนี้หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อยอดขายน้ำมันอากาศยานและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีผลถึงในช่วงไตรมาส 2/63 และน่าจะพลิกฟื้นมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนความร่วมมือพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับพันธมิตรจีนนั้นต้องชะลอออกไปก่อน

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.มีแผนออกหุ้นกู้ราว 5-6 หมื่นล้านบาทในช่วงกลางปีนี้ หลังไม่ได้ออกมาในรอบ 2 ปี เพื่อระดมเงินมาใช้ลงทุนตามแผนการลงทุนและใช้คืนหุ้นกู้ชุดเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยที่เฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ราว 5% ขณะที่ ปตท.มีเงินสดในมือราว 6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมทั้งกลุ่มมีเงินสดในมือราว 3.3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในระยะต่อไป

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร ของ ปตท. กล่าวว่า กลุ่มปตท.มีแผนใช้เงินลงทุนราว 9 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 63-67) โดยประมาณ 60% เป็นการลงทุนในประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 30-40% เป็นการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนในประเทศระดับดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศราว 0.2-0.3%

ทั้งนี้ มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง จากความเสี่ยงหลายประการ ทั้งในส่วนความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ในส่วนของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวต่อได้ในระดับราว 2% เท่านั้น

ขณะที่กลยุทธ์ของปตท.ใน 5 ปีข้างหน้าจะยังเน้นการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และลงทุนตามแผน โดยในส่วนธุรกิจขั้นต้น ที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและลงทุนในธุรกิจก๊าซฯระดับโลกเพื่อสร้างการเติบโต รวมถึงการลงทุนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซฯสู่ไฟฟ้า (Gas to Power) โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงดำเนินธุรกิจ LNG ครบวงจรและการนำไทยเข้าสู่การเป็น LNG HUB รวมถึงลงทุนธุรกิจขั้นปลาย เพื่อสร้างพลังร่วมในการเติบโตและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผ่านโครงการ Project One และ Hydrocarbon Value Chain เป็นต้น

ตลอดจนลงทุนในด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ เพื่อขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติและมุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์ เช่น การทำ M&A ในธุรกิจพลังงานใหม่ ไฟฟ้าครบวงจร ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 63)

Tags: , , ,
Back to Top