ศบค.ทดลองลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน ประเมินผล 1-15 ม.ค. ก่อนเคาะตัดสินใจ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้นำเสนอเรื่องการปรับวันตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เข้ารับการกักกันตัวในสถานกักตัวที่ทางราชการกำหนด

โดยได้กำหนดแนวทางการตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันเชื้อ (Swab) เพิ่มเป็น 3 ครั้ง จากเดิม 2 ครั้ง ซึ่งจะมีการตรวจหาเชื้อครั้งแรกในช่วงวันที่ 0-1 ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 9-10 และตรวจครั้งที่ 3 วันที่ 13-14 ซึ่งจะดำเนินการในระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค.63 เพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินผลภายในวันที่ 1-15 ม.ค.64 โดยจะนำข้อสรุปที่ได้นี้มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าจะต้องมีการลดระยะเวลาการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศลงเหลือ 10 วัน จาก 14 วันหรือไม่

“ดังนั้น ถ้าอยากจะลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ก็จะต้องมา design การกักตัวใหม่ จึงออกมาเป็นการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง…เราจะประเมินผลในช่วง 1-15 ม.ค.ปีหน้า ซึ่งจะเห็นชุดข้อมูลนี้ออกมาแล้วว่าใช้ได้หรือไม่ ช่วงกักตัวที่ส่วนใหญ่ทั่วโลกลดลงมาเหลือ 10 วันนั้น แต่ของไทยจะนำเป็นชุดข้อมูลของเดือนธ.ค.นี้ เพื่อจะนำไปสู่การปรับลดวันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชุดข้อมูลนี้ เพื่อไม่ให้มีข้อถกเถียงกัน”

นพ.ทวีศิลป์กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ประชุม ศบค.ยังได้หารือถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ 2564 โดยได้กำชับและเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก หรือในสถานที่ที่มีคนแออัด

นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ในการออกตรวจตรา เพื่อป้องปรามให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้ถือปฏิบัติตามาตรการป้องกันโรค แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังมีผลบังคับใช้

“ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ได้เน้นย้ำมาตรการเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด พยายามให้ไปสู่ new normal คือสังสรรค์ได้ แต่ต้องไม่เป็นการแพร่ระบาดของโรค”

นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

ทั้งนี้ มาตรการเพื่อป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้แก่

1.ให้ผู้จัดคอนเสิร์ต ดนตรี นาฏศิลป์ การแสดงเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่สาธารระ สถานที่โล่งแจ้ง พื้นที่ไม่มีโครงสร้างที่นั่ง หรือไม่สามารถจัดที่นั่งได้เป็นการปกติ ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ดังนี้

  • ควบคุมจำนวนผู้ชม ผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด โดยคิดเกณฑ์พื้นที่ของผู้ชมไม่เกิน 50%ของพื้นที่จัดงานทั้งหมด และกำหนดพื้นที่ต่อจำนสนผู้ชมให้ไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม./คน และจัดแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ร่วมชมการแสดง เป็นกลุ่มย่อย และกำหนดให้มีพื้นที่ทางเดินภายในงานที่เพียงพอ

2.ให้จังหวัดควบคุม กำกับ การจัดงานรื่นเริง คอนเสิร์ต ดนตรี นาฏศิลป์ การแสดง เพื่อการเฉลิมแลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19

  • ตรวจสอบ กำกับ ติดตามการจัดงาน/กิจกรรม โดยเชิญผู้จัดงานเสนอแผนการจัดงานและมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่สามารถปฎิบัติได้จริงต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พร้อมทั้งตรวจสอบวิธิปฎิบัติตามแผนการจัดงานก่อน, จัดให้เจ้าพนักงานควบคุมโรค บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ ติดตาม กำกับการจัดงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันที่กำหนดตามแผนจัดงาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top