IND ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 20-25% มาที่ 700-900 ลบ.ตามงานรัฐออกมามากขึ้น

นายชัยณรงค์ ณ ลำพูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 64 อยู่ที่ระดับ 700-900 ล้านบาท เติบโต 20-25% เมื่อเทียบกับปี 63 ที่คาดว่าจะมีรายได้รวม 600 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยบวกจากงบประมาณปี 64 ของภาครัฐสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติ ทำให้เชื่อว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ออกมาประมูลจำนวนมาก หลังจากงบประมาณปี 63 ล่าช้าไปมาก รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะดีขึ้น แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศยังคงพุ่งขึ้นสูง

นายชัยณรงค์ เชื่อว่า ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไปการรับงานภาครัฐทั่วไปจะกลับมาเป็นงบปกติ โดยจะมีการทยอยประมูลงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีผลงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design and Build) ให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ อยู่แล้ว ขณะที่เดียวกันบริษัทมีแผนจะเข้าร่วมประมูลงานโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะงานสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับโครงการเด่นๆใน EEC ได้แก่ งานในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่ได้เซ็นสัญญารับคุมงานรันเวย์ มูลค่า 27 ล้านบาท รวมถึงงานอื่นๆที่จะเปิดประมูล และคาดว่าจะได้เข้ารับงานในงานระบบน้ำมัน งานระบบจ่ายน้ำมันใต้ดิน และงานก่อสร้างคลังน้ำมันขนาดใหญ่ ที่ลูกค้าของบริษัท คือ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และบมจ. ปตท. (PTT) มีโอกาสชนะประมูล ซึ่งจะมีการยื่นประมูลงานออกแบบและก่อสร้างระบบน้ำมันของสนามบินในวันที่ 8 ม.ค.64 นี้

“งานระบบน้ำมันฯ เบื้องต้นลูกค้าบริษัทมีโอกาสได้รับการชนะประมูลสูงกว่าคู่แข่ง และหากได้รับงานมาแน่นอนว่าทาง IND มีโอกาสที่จะได้นำศักยภาพที่มีอยู่เข้าไปบริการเหมือนเช่นเคย ส่วนปัจจุบันบริษัทงานในมือรอรับรู้รายได้รวม 530 ล้านบาท จะสามารถรับรู้รายได้ต่อเนื่องตามสัญญางาน และไม่นับรวมงานใหม่ที่รับมาตั้งแต่ไตรมาส 4/63 (คุมงานรันเวย์ มูลค่า 27 ล้านบาท)”

นายชัยณรงค์ กล่าว

สำหรับการระดมทุนจากการขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในครั้งนี้ 99 ล้านบาท ไม่ใช่จำนวนที่มากนัก แต่การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของบริษัทต่อผู้ว่าจ้าง ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ มากขึ้น

โดยบริษัทมีแผนนำเงินไปลงทุนด้านเทคโนโลยี และไอทีสารสนเทศ ทั้งคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการสร้างบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการให้บริการ รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในทุก ๆ 3 ปี เพื่อตามเทคโนโลยีคู่แข่งต่างชาติที่เข้ามามากขึ้น

ประกอบกับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจให้คล่องตัว และเติบโตต่อเนื่องอย่างมั่นคง และเป็นฐานทุนเข้ารับงานที่โครงการขนาดใหญ่มากขึ้นในปี 64 โดยบริษัทจะมีการพิจารณาระดมทุนเพิ่มหากมีโอกาสในการเข้าประมูลโครงการในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศระดับ 1,000-10,000 ล้านบาท เพราะมีข้อจำกัดเรื่องทุนจดทะเบียนไม่ถึงเกณฑ์เข้าประมูล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top