In Focus: ย้อนรอยเหตุการณ์เขย่าการเมืองโลกตลอดปี 63

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2563 นี้เป็นปีที่ค่อนข้างจะวุ่นวายและอลหม่าน เพราะนอกจากทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่นั้น อุณหภูมิทางการเมืองในโลกก็ตึงเครียดไม่แพ้กัน ความสัมพันธ์ได้เกิดรอยร้าวทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งบางครั้งก็ทำให้หวาดผวาว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหม่

In Focus สัปดาห์นี้ ขอสรุปสถานการณ์และความเคลื่อนไหวทางการเมืองส่งท้ายปี 2563 เพื่อให้ผู้อ่านได้ย้อนดูเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้

วิกฤตสหรัฐ-อิหร่าน

ยังไม่ทันจะข้ามผ่านอาทิตย์แรกของเดือนม.ค. ทั่วโลกก็หวาดผวากับสถานการณ์ของภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดือดปะทุขึ้นมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด โดยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 3 ม.ค. กองทัพสหรัฐเปิดฉากปฎิบัติการโจมตีทางอากาศสังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดดของอิรัก ภายใต้ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอ้างว่า นายพลโซเลมานีมีแผนโจมตีสถานทูตสหรัฐหลายแห่ง และมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้คนหลายล้านคน

อิหร่านและสหรัฐเผชิญความขัดแย้งที่ร้าวลึกและระส่ำระสายมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่าการปลิดชีพผู้บัญชาการทหารคนสำคัญได้สร้างความเคียดแค้นอย่างมากให้กับอิหร่าน โดยอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศจะล้างแค้นสหรัฐอย่างสาสม และรัฐสภาอิหร่านประกาศขึ้นบัญชีดำกระทรวงกลาโหมสหรัฐเป็น “องค์การก่อการร้าย” กระทั่งในช่วงเช้าของวันที่ 8 ม.ค. อิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธจำนวนหลายสิบลูกถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐในจังหวัดอันบาร์ของอิรัก ทว่าทุกอย่างกลับตาลปัตรเมื่อกองทัพอิหร่านยิงเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินยูเครนตกโดยไม่ได้ตั้งใจในวันเดียวกัน ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเกือบ 180 คนเสียชีวิตทั้งหมด เหตุการณ์จึงบานปลายไปสู่การประท้วงอิหร่านทั่วโลก

สหรัฐประท้วงเดือด “Black Lives matter”

หนึ่งในการประท้วงที่สร้างปรากฎการณ์และแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก คงต้องพูดถึงการประท้วง Black Lives Matter ในสหรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพนาทีชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายหนุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 46 ปี ที่ถูกตำรวจล็อกคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในระหว่างการถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค. เนื่องจากถูกต้องสงสัยว่าใช้ธนบัตรปลอม เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ไม่เพียงแต่สร้างความหดหู่และโกรธแค้นให้กับผู้คนทั่วอเมริกา แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรมของสหรัฐอย่างถึงรากถึงโคน คณะกรรมาธิการตุลาการประจำสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐได้ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการสอบสวนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเป็นระบบ

การเสียชีวิตของฟลอยด์จุดชนวนประท้วง “Black Lives Matter” โดยประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจการตบเท้าออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ และต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ โดยมีเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เป็นศูนย์กลางการประท้วง และลุกลามไปหลายสิบเมืองใหญ่ทั่วประเทศ การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และหลายคนฉวยโอกาสขโมยของตามห้างร้านต่างๆ จนหลายเมืองต้องประกาศเคอร์ฟิวและสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล รวมถึงประกาศเรียกพลกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) เพื่อควบคุมสถานการณ์ นอกจากนี้ กระแสเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์ยังลุกลามไปทั่วโลกด้วย

ศึกนองเลือดชายแดนจีน-อินเดีย

เมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. เกิดเหตุปะทะกันอย่างไม่คาดคิดระหว่างทหารจีนกับทหารอินเดียบริเวณหุบเขากาลวาน ในภูมิภาคลาดักห์ ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทของสองประเทศ ส่งผลให้ทหารอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นาย และนับเป็นการปะทะกันครั้งแรกระหว่างสองประเทศในรอบ 45 ปี อันเนื่องมาจากการอ้างสิทธิ์พื้นที่บริเวณพรมแดนติดต่อกัน โดยจีนกล่าวหาว่ากองทัพอินเดียข้ามพรมแดนเข้ามาสองครั้งเพื่อยุแหย่และโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันว่าไม่มีการยิงกัน ทว่ามีการต่อสู้กันโดยใช้มือเปล่า แท่งเหล็ก และหินเท่านั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนยังถดถอยต่อเนื่อง ความพยายามในการเจรจาทางการทหารระดับสูงเพื่อลดความตึงเครียดไม่เป็นผล จนส่งผลกระทบลามไปถึงสงครามทางการค้า โดยอินเดียสั่งแบนแอปพลิเคชั่นของจีน และเมื่อผ่านไปเพียงแค่ 2 เดือนเศษ ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีกระลอกเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ทหารอินเดียเปิดฉากปะทะกับทหารจีนอีกครั้งบริเวณพื้นที่พิพาท หลังจากที่จีนกล่าวหาว่ากองทหารของอินเดียบุกรุกเข้าไปในเขตแดนของจีนบริเวณเทือกเขาหิมาลัย

ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายไปมากกว่านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนและอินเดียได้บรรลุข้อตกลงเพื่อลดความตึงเครียดบริเวณพื้นที่ชายแดน และทั้งสองฝ่ายยังตกลงร่วมกันว่าจะไม่ยอมให้ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง โดยจะปฏิบัติตามข้อตกลงและระเบียบปฏิบัติด้านกิจการพรมแดนจีน-อินเดียที่มีอยู่ และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งนับเป็นการปิดฉากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน

ฮ่องกงภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ

ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ฮ่องกงเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อมาแรมปี จากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย และการแยกฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. สภานิติบัญญัติของจีนได้ลงมติเป็นเอกฉันท์บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง โดยจีนให้เหตุผลว่าเพื่อปราบปรามการกระทำที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก การโค่นล้ม การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ รวมทั้งการแทรกแซงกิจการภายใน บรรดานักวิชาการต่างมองว่า การออกกฎหมายความมั่นคงถือเป็นอวสานคำมั่นสัญญาของจีนที่จะธำรงรักษาความมีอิสระของฮ่องกงภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

การบังคับใช้กฎหมายไม่เพียงแต่บั่นทอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเสถียรภาพของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงออกมาต่อต้านกฎหมายดังกล่าว เริ่มจากสหรัฐประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงในแง่ของการเก็บภาษีและการออกวีซ่า หวังเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลจีนทางอ้อม ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากฮ่องกงเป็นช่องทางระดมทุนสำคัญของบรรดาบริษัทจีน และออกมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลฮ่องกงและจีน ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ ประกาศฉีกข้อตกลงการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แถมยังเปิดโอกาสให้กับพลเมืองฮ่องกงย้ายถิ่นอาศัย และตั้งรกรากใหม่ในดินแดนของตนที่ไม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพใดๆ

ระเบิดแห่งความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี

แม้ว่าปี 2563 จะครบรอบ 20 ปีของการประกาศปฏิญญาร่วมเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ซึ่งเคยจับมือตกลงกันว่า จะเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่แห่งสันติภาพด้วยกัน ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศบนคาบสมุทรเกาหลีกลับสะดุดล้มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 มิ.ย. เกาหลีเหนือได้สร้างความหวาดผวาแก่ประชาคมโลกด้วยการระเบิดสำนักงานประสานงานระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จนราบคาบในพริบตา โดยอาคารดังกล่าวเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความปรองดองระหว่างสองเกาหลี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองแกซอง ชายแดนของเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือให้เหตุผลของการระเบิดครั้งนี้ว่าเป็นผลมาจากการที่เกาหลีเหนือไม่พอใจที่รัฐบาลเกาหลีใต้ปล่อยให้กลุ่มเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ส่งต่อใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือ รวมถึงเผยแพร่คลิปวิดีโอ ภาพยนตร์ เพื่อประณามระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ และกระตุ้นให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล ซึ่งล้วนแต่สะท้อนความหละหลวมและความไม่จริงใจของเกาหลีใต้ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นจุดหักเหของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศบนคาบสมุทรเกาหลี ทว่ายังทำให้ คิม โย จอง น้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือ กลายเป็นจุดสนใจของทั่วโลกอีกครั้งในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการครั้งนี้ เพราะถ้าหากเธอถูกมองว่า อาจขึ้นมาสืบทอดอำนาจผู้นำเกาหลีเหนือคนต่อไป ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

เลือกตั้งสหรัฐ 2020 สุดโกลาหล

สำหรับปี 2563 คงไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองไหนที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามมากไปกว่าการเลือกตั้งในสหรัฐ เพราะผลการเลือกตั้งของชาติมหาอำนาจนี้จะส่งผลต่อทุกประเทศทั่วโลกทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง ทว่าการเลือกตั้งในปีนี้กลับเผชิญความท้าทายมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก 2 ผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตนั้น ต้องประชันวิสัยทัศน์และปราศัยแบบนิวนอร์มอล (New Normal) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผนวกกับการที่ทรัมป์ดันมาติดเชื้อโควิดก่อนการเลือกตั้งเพียง 1 เดือน ซึ่งส่งผลให้กำหนดการดีเบตและการปราศัยต้องเลื่อนออกไปด้วย

แม้ว่าการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อวันที่ 3 พ.ย. จะเสร็จสิ้นลง แต่ความวุ่นวายยังไม่จบ เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาล่าช้าและคะแนนที่พลิกผันไปมา ด้วยเหตุที่ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันมาก อีกทั้ง ในปีนี้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ (mail-in ballots) จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งทำให้การนับคะแนนล่าช้าออกไป พร้อมทั้งยังเปิดช่องทางให้ปธน.ทรัมป์ออกมาโจมตี และกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ หลังจากคว้าคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง ซึ่งมากเกินพอสำหรับจำนวนที่ต้องการ 270 เสียงในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ขณะที่ปธน.ทรัมป์ได้เพียง 232 เสียง

ทั้งนี้ นายไบเดนจะเป็นประธานาธิบดีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันด้วยวัย 78 ปี เมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2564 พร้อมกับนางคามาลา แฮร์ริส วัย 56 ปี สตรีอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน-เอเชียใต้คนแรกที่จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 นั้นย่ำแย่และวุ่นวาย รวมถึงความสัมพันธ์ในระดับประเทศและภูมิภาคยังคงเลวร้ายลงก็ตาม แต่เราก็ภาวนาว่า ในปีหน้าฟ้าใหม่ ทุกปัญหาจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และกลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่จะคอยย้ำเตือนเราถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top