นักวิจัยทั่วโลกเร่งหาแอนติบอดีพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

มหาวิทยาลัยและศูนย์การแพทย์ในสหรัฐ จีน และออสเตรเลีย ที่กำลังมองหาแนวทางคิดค้นวัคซีนและเทคนิครักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากไวรัส SARS-CoV2 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ศูนย์การแพทย์ Vanderbilt University Medical Center (VUMC) และบริษัท GenScript China กำลังใช้เทคโนโลยีกรรมสิทธิ์ของบริษัท Berkeley Lights โดยเป็นแพลตฟอร์มของไหลเชิงแสง (optofluidic) ที่มีชื่อรุ่นว่า Beacon ในการคัดกรองตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย เพื่อหาแอนติบอดีที่จำเป็นและนำไปใช้พัฒนาแนวทางจัดการกับไวรัสโคโรนา

ขณะเดียวกัน นักวิจัยจาก University of Queensland ในออสเตรเลีย ก็กำลังประเมินประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม Beacon เช่นเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเร่งความก้าวหน้าของโครงการผลิตวัคซีนแบบรีคอมบิแนนท์ซับยูนิต

ดร. Robert Carnahan หัวหน้าโปรเจกต์ประจำห้องปฏิบัติการ Crowe Lab ในสังกัดศูนย์การแพทย์ VUMC เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยให้สำรวจแอนติบอดีที่มีศักยภาพป้องกันโรคได้หลากหลายยิ่งขึ้น และช่วยให้เร่งหาแอนติบอดีที่ดีที่สุดได้เร็วขึ้นด้วย

ด้านดร. Trent Munro ผู้อำนวยการศูนย์ National Biologics Facility และผู้อำนวยการโครงการ Vaccine Rapid Response ในสังกัด University of Queensland เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวน่าจะทำให้ทางทีมวิจัยมีศักยภาพพร้อมผลิตได้เร็วขึ้นกว่าการใช้แนวทางเดิม ๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยร่นเวลาในการดำเนินงานได้หลายเดือน

ส่วนบริษัท GenScript ของจีน ก็ประสบความสำเร็จในการคัดกรองและระบุแอนติบอดีสำหรับโควิด-19 ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงจากการใช้แพลตฟอร์ม Beacon ซึ่งปกติแล้ว ขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาถึง 3 เดือนเมื่อใช้เทคนิคทั่วไป

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวจึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เพื่อให้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และเฟ้นหาแนวทางรักษาและป้องกันโรคได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสโคโรนา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top