THAI เผยไวรัสโควิดพ่นพิษเที่ยวบิน-ผู้โดยสารวูบต่อเนื่อง

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการบินไทยอย่างมาก โดยในเดือน มี.ค.63 จำนวนผู้โดยสารภาพรวมลดลงราว 30% จากเดือน ก.พ.ที่ลดลงไปแล้ว 30%

โดยเฉพาะในเอเชีย อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ลดลง 30-40% ขณะที่เส้นทางยุโรป ลดลงไป 5% ส่วนจำนวนเที่ยวบินภาพรวมลดลงไป 20% จากเดือน ก.พ.ที่ลดลงแล้ว 10% และในเดือนเม.ย.-พ.ค. ก็คาดว่าจะลดลงราว 20%

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับลดเที่ยวบินและปรับมาใช้เครื่องบินลำเล็ก หรืออาจยุบรวมไฟลท์บิน หรือปรับลดความถี่ โดยเฉพาะเส้นทางที่เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง ท้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอิตาลี เป็นต้น แต่ขณะนี้ยังไม่ยกเลิกเส้นทางบินใดๆ ยกเว้นหากมีจำนวนผู้โดยสารลดลงต่ำมากก็จะพิจารณายกเลิกเส้นทางบินชั่วคราว

นายสุเมธ กล่าวว่า บริษัทเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องปรับลดเที่ยวบินเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งบริษัทได้วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ รองรับวิกฤตินี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและความปลอดภัย อาทิ ชะลอการลงทุน ชะลอการว่าจ้างบุคลากร ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ลดวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลือง ฯลฯ

รวมทั้ง ปรับลดเงินเดือนระดับผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ร่วมสมัครใจลดผลตอบแทนลงร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563เป็นต้นไป

ขณะที่การปรับลดเที่ยวบินทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายคงที่ อาทิ ค่าเสื่อม ก็ยังมีอยู่ ทั้งนี้การบินไทยได้เตรียมสภาพคล่องไว้ก่อนหน้านี้ และยังมีแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าว หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และรุนแรงขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนและเพิ่มระดับมาตรการรับมืออย่างเข้มข้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI คาดว่าในไตรมาส 3/63 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 น่าจะคลี่คลาย และเริ่มเห็นการฟื้นตัวในไตรมาส 4 นี้ หรืออย่างน้อยอีก 6 เดือน หรือหากค้นพบวัคซีนป้องกันไวรัสดังกล่าวได้เร็วก็จะสามารถหยุดสถานการณ์ได้เร็วตามไปด้วย โดยขณะเริ่มมีการผลิตยารักษาออกมาบ้างแล้ว และสถานการณ์แพร่ระบาดในจีนมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตลดลง และเมืองอู่ฮั่นเริ่มเปิดเมือง

“ประเทศไทยมีความสามรถการควบคุมได้อยู่แต่ในต่างประเทศเราเชื่อว่าเอเชียเหนือจะคลี่คลายเร็ว ถ้าเกาหลีสามารถควบคุมได้เราเชื่อว่าจะเร็วขึ้น…ผมเชื่อว่าน่าจะไตรมาส 3 ทุกอย่างน่าจะ slowdown จนจบได้ แต่บนเงื่อนไขว่าทุกประเทศต้องมีมาตรการ ทางยุโรป เราเชื่อว่าถ้ามียารักษาโรค ก็เชื่อมั่นว่าจะลงเร็วได้ อย่างน้อยใช้เวลา 6 เดือน ก็ประมาณไตรมาส 3 ที่คนจะกลับมาปกติ”

นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับการจัดหาเครื่องบินยังในขั้นตอนตามแผนงาน โดยฝ่ายบริการจะนำเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติแผนในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งได้เคยนำเสนอไปเบื้องต้นแล้วก่อนหน้านี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

ส่วนการร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา (MRO) ทางแอร์บัสจะยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนให้กับคณะกรรมการคัดเลือกฯในวันที่ 6 มี.ค.นี้ และตามแผนจะลงนามสัญญาภายในปีนี้

“ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นทันที สิ่งที่ต้องทำของการบินไทย คือแผนพัฒนาฝูงบิน ปรับปรุงเส้นทางการบิน แผนพัฒนาการตลาดและการขาย แผนเรื่องพัฒนาดิจิทัล ทุกอย่างยังต้องทำแผน… วันนี้มีโควิด ปีนี้เราพูดว่าใครรอดดีกว่า รอดแล้วกลับมาอย่างไร เราเชื่อว่าเราทำได้ “นายสุเมธ กล่าว

สำหรับผลประกอบการในปี 62 บริษัทมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายลดลงกว่าปีก่อน 5.8% ทั้งนี้ บริษัทเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการทั้งจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง บริษัทต้องหยุดบินในบางเส้นทางจากเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของปากีสถาน การประท้วงในฮ่องกง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ในช่วงปลายปี ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วันเป็น 400 วัน รวมทั้งปัจจัยภายในคือความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต

ดังนั้น ในปี 62 บริษัทและบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8%

บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ในปี 62 นี้บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือลดลง 5.8% ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top