ประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี บ่งชี้ดาวโจนส์ ‘ล้มเพื่อลุก’

ถึงแม้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีแนวโน้มทรุดตัวลงอย่างมากในคืนนี้ แต่ประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีของดัชนีดาวโจนส์บ่งชี้ความจริงข้อหนึ่งว่า แม้ดัชนีอาจจะเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักหลายครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดัชนีดาวโจนส์ยังคงสามารถฟื้นตัวขึ้น และเดินหน้าต่อไป ขณะที่แนวโน้มในระยะยาวยังคงเป็นช่วงขาขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดในวันที่ 12 ม.ค.1906 ที่ระดับ 100.25 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดัชนีปิดตลาดเหนือระดับ 100 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นหลังจากนั้นแตะระดับ 381.7 ในวันที่ 3 ก.ย.1929 แต่อีก 8 สัปดาห์ต่อมา ดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างหนักในวันที่ 28-29 ต.ค.1929 สู่ระดับ 230 ซึ่งคิดเป็นการร่วงลงถึง 23.6% โดยการทรุดตัวดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐ

มีสาเหตุมากมายที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวในปี 1929 ซึ่งได้แก่ การเก็งกำไรในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ราคาพุ่งขึ้นเหนือปัจจัยพื้นฐาน ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมทั้งชาวอเมริกันในขณะนั้นราว 60% มีรายได้ไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์ต่อปี

ต่อมา ในวันที่ 8 ก.ค.1932 ดัชนีดาวโจนส์แตะระดับต่ำสุดที่ระดับ 41.22 จุด ส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 89.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 2 ปีครึ่งก่อนหน้านี้ โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐ ซึ่งทำให้มีคนตกงานมากถึง 12 ล้านคน บริษัท 20,000 แห่ง และธนาคารมากกว่า 1,600 แห่งประสบภาวะล้มละลาย ขณะที่เกษตรกร 1 ใน 20 คนต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง

แต่หลังจากผ่านพ้นภาวะยากลำบากดังกล่าว ดัชนีดาวโจนส์ก็ได้ดีดตัวขึ้นเหนือหลัก 1,000 จุดในวันที่ 14 พ.ย.1972 โดยแตะระดับ 1,003.16 และใช้เวลาอีก 15 ปีในการแตะหลัก 2,000 จุด โดยสามารถแตะ 2,002.25 ในวันที่ 8 ม.ค.1987

ปัจจัยที่หนุนดัชนีดาวโจนส์ขณะนั้น ได้แก่ ยอดขายรถยนต์ที่พุ่งเป็นประวัติการณ์ การแข็งค่าของดอลลาร์ และการที่ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และส่งผลให้มีนักลงทุนหน้าใหม่แห่กันเข้าตลาด และดันให้ดัชนีทะยานขึ้น

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 19 ต.ค.1987 ซึ่งเรียกกันว่า วันแบล็คมันเดย์ ดัชนีดาวโจนส์ตกลงอย่างหนัก โดยทรุดตัวลง 508 จุด ทำสถิติปรับตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่มีการก่อตั้งดัชนี ทำให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 22.6% คิดเป็นวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุของการไหลลงของดาวโจนส์ในวันแบล็คมันเดย์เกิดจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ว่า ค่า P/E ของหุ้นจำนวนมากได้พุ่งขึ้นสูงเกินไป จนทำให้เกิดแรงเทขายออกมา และเมื่อตลาดหุ้นดิ่งลง ก็ได้กระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นระลอกใหม่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการตั้งคำสั่งไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้มีการเทขายหุ้นล็อตใหญ่จากบริษัทโบรกเกอร์ และสถาบันการเงินขนาดใหญ่

ถึงแม้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงจากเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ แต่ดัชนีก็ยังคงสามารถฟื้นตัวขึ้น จนทะลุระดับ 10,000 จุดในวันที่ 29 มี.ค.1999 แตะ 10,006.78 โดยได้อานิสงส์จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการเงิน

ต่อมา ในวันที่ 16 มี.ค.2000 ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติพุ่งขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยทะยานขึ้น 499.19 จุด หรือปรับตัวขึ้นเกือบ 5% จากการดีดตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ดี การที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นจนสูงกว่าตัวเลขกำไรสุทธิ ก็ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดปรากฎการณ์”ฟองสบู่ดอทคอม” และทำให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างหนักในวันที่ 14 เม.ย.2000 ส่งผลให้ดาวโจนส์ร่วงลงมากเป็นประวัติการณ์ โดยดิ่งลง 617.78 จุด หรือ 5.66%

แม้เผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ดาวโจนส์ก็ยังคงปรับตัวขึ้นหลังจากนั้น โดยสามารถทะลุระดับ 11,000 จุดในเดือนต.ค.2006

ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 26,000 จุดในเดือนม.ค.2018 แต่ในเดือนมิ.ย.ปีเดียวกัน ดาวโจนส์ได้ทรุดตัวลงอยู่บริเวณ 24,000 จุด ท่ามกลางปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐและประเทศต่างๆ

ประวัติศาสตร์ 100 กว่าปีย่อมเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผ่านร้อนผ่านหนาวของดัชนีดาวโจนส์ ทำให้ดาวโจนส์ได้รับการยอมรับในฐานะดัชนีหุ้นที่เก่าแก่ที่สุด มีชื่อเสียงที่สุด และได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในโลก

นักวิเคราะห์ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อดัชนีดาวโจนส์ โดยมองว่าแนวโน้มในระยะยาวยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้ปัจจัยบวกจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ อัตราการว่างงานต่ำ การจ้างงานที่เกือบเต็มศักยภาพ การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุนหุ้นสหรัฐ และเป็นแรงหนุนให้ดัชนีดาวโจนส์เดินหน้าขึ้นต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top